นักวิจัย ยืนยัน โคโรนาแมว เป็นคนละสายพันธุ์กับ ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ไม่ติดต่อข้ามสายพันธุ์ เผยโคโรนาในสัตว์ มีมานานแล้ว และไม่มีรายงาน เชื้อโคโรนา แพร่จากสัตว์สู่คน

จากกรณีสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีน โดยมีกระแสข่าวลือว่า สัตว์เลี้ยงจำพวกสุนัขและแมว อาจเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ทำให้ผู้คนต่างหวาดกลัว และมีคนโยนสัตว์เลี้ยงออกจากที่พัก ให้ตกลงมานอนตายเกลื่อนพื้นถนนนั้น
อ่านข่าว : คนจีนผวา โยนสุนัข-แมวทิ้งจากที่พัก กระอักเลือดตาย กลัวแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา
ล่าสุด (4 กุมภาพันธ์ 2563) สปริงนิวส์ รายงานว่า ดร.ศิรินทร์ ธีระวัฒนศิริกุล นักวิจัยจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ไวรัสโคโรนา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคในแมวได้เช่นกัน แต่เป็นคนละสายพันธุ์กับไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสอู่ฮั่น (nCoV-2019)


โดยไวรัสตัวนี้จะก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารในแมว ซึ่งแมวอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย หรืออาจมีอาการลำไส้อักเสบและท้องเสียไม่รุนแรง ไปจนถึงขั้นพัฒนาเป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว ซึ่งจะทำให้แมวมีอาการซึม เบื่ออาหาร หายใจผิดปกติ ไปจนถึงมีอาการที่รุนแรงขึ้นคือ พบของเหลวขังตามช่องอก หรือช่องท้อง และอาจตายได้ในที่สุด
ทั้งนี้ ยังไม่มียารักษาให้หาย และยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันไวรัสตัวนี้ให้ได้ผลจริง ๆ ดังนั้น การรักษาในปัจจุบัน จึงเป็นการรักษาแบบพยุง หรือประคับประคองอาการเท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่มีรายงานใดว่ามีการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาในแมวมาสู่คน ทั้งจากการคลุกคลีกับแมวหรือการกินแมว แต่คำแนะนำคือ ไม่ควรกินสัตว์ที่ไม่ได้มาจากปศุสัตว์เพื่อการบริโภค ให้กินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ สะอาด และใช้ช้อนกลาง จะดีที่สุด

