x close
pet >

7 คำตอบไขข้อข้องใจ สุนัขนำทางคนตาบอด แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงอย่างไร ?

| 21,467 อ่าน


          7 คำตอบไขข้อข้องใจ สุนัขนำทาง แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงอย่างไร ? เวลาเจอสุนัขนำทางควรปฏิบัติอย่างไร ทำไมไม่ควรเดินเข้าไปเล่นกับสุนัขระหว่างปฏิบัติหน้าที่   

          หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับสุนัขในฐานะของสัตว์เลี้ยง แต่จริง ๆ แล้วสุนัขไม่ได้เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนหรือเฝ้าบ้านให้เราเท่านั้น แต่มีสุนัขอีกส่วนหนึ่งที่ถูกฝึกอบรมเพื่อช่วยรักษาบำบัดผู้ป่วยและช่วยเหลือคนพิการ เมื่อไม่นานมานี้ในโลกโซเชียลก็ได้นำเรื่องราวของ ทราย สาวน้อยที่สูญเสียการมองเห็นเพราะเนื้องอกในสมอง และต้องอาศัย สุนัขนำทาง ที่ชื่อเจ้า ลูเต้อร์ คอยนำทางให้ ซึ่งการเดินทางแต่ละครั้งก็จะเจอกับอุปสรรคและคำถามต่าง ๆ เช่น ทำไมห้ามชวนสุนัขเล่น หรือทำไมสุนัขนำทางเข้าสถานที่ที่มีการห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาได้ เอาเป็นว่าไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยค่ะ 
 

1. สุนัขทุกตัวผ่านการฝึกมาอย่างดี 

          ก่อนที่สุนัขแต่ละตัวจะมาเป็น สุนัขนำทางคนตาบอด นอกจากจะต้องผ่านการทดสอบของโรงเรียนฝึกสุนัขแล้ว ยังต้องผ่านการฝึกอย่างเข้มข้นโดยเทรนเนอร์อย่างน้อย 18 เดือน หรือ ประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึงจะสามารถออกมาปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งเทรนเนอร์ไม่ได้สอนเฉพาะการดูแลคนตาบอดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่ส่งเสียงดังรบกวนคนรอบข้าง ไม่ขับถ่ายเรี่ยราด และไม่สร้างความเสียหายให้กับสถานที่ต่าง ๆ 

2. ไม่ควรชวนเล่นระหว่างทำงาน 

          แม้จะสุนัขจะมีหน้าตาน่ารัก น่าเอ็นดู แต่หากสุนัขใส่บังเหียน ก็แสดงว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ฉะนั้นก็ไม่ควรเดินเข้าไปเล่นหรือเบนความสนใจจากสุนัข เช่น เรียกชื่อ ลูบหัวลูบตัว หรือให้น้ำ-ให้อาหาร เพราะสุนัขต้องใช้สมาธิสูงในการนำทางและดูแลความปลอดภัยให้กับเจ้าของ หากสุนัขเสียสมาธิก็อาจทำให้เจ้าของเดินสะดุด หกล้ม โดนรถรถเฉี่ยวชน หรือได้รับอันตรายอื่น ๆ 

3. สุนัขเข้า-ออกได้ทุกที่ 

          แม้หลาย ๆ จุดจะมีการห้ามไม่ให้นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาภายในสถานที่ แต่ทางกฎหมายมีข้อยกเว้นอยู่ว่า สุนัขนำทาง ถือเป็นอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา เช่นเดียวกับการใช้ไม้เท้าหรือวีลแชร์ เพราะฉะนั้น สุนัขนำทางคนตาบอด สามารถเข้า-ออกตามสถานที่สาธารณะได้หากอยู่ในระหว่างการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร รวมถึงรถไฟฟ้า ก็ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืน ถึงแม้ว่าจะเป็นสถานที่ที่มีกฎห้ามไม่ให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปก็ตาม

4. สุนัขปฏิบัติหน้าที่แม้ตอนนอน

          แม้จะเห็นว่าสุนัขนอนหมอบข้าง ๆ หากเห็นว่าสุนัขใส่บังเหียนอยู่ก็ถือว่าอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ก็ไม่ควรเดินเข้าไปเล่น ให้อาหาร หรือเรียกร้องความสนใจจากสุนัข เพราะการที่สุนัขนำทางนอนนั้น ไม่ใช่การนอนเพื่อพักผ่อน แต่สุนัขนอนเพื่อควบคุมตัวเองไม่ให้ออกไปวิ่งเล่นนั่นเอง 
 

5. สุนัขนำทางไม่ใช่ GPS

          แม้จะได้ชื่อว่าเป็น สุนัขนำทาง แต่สุนัขไม่ได้รู้จักเส้นทางที่จะไป ก่อนออกเดินทางทุกครั้งเจ้าของก็จะต้องศึกษารายละเอียดเส้นทางและวิธีการเดินทางไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้บังคับและควบคุมสุนัขไปยังจุดหมายได้อย่างราบรื่นและถูกต้อง นอกจากนี้สุนัขนำทางไม่สามารถอ่านสัญญาณไฟจราจรได้ แต่ใช้วิธีฟังเสียงและสังเกตช่วยในการตัดสินใจก่อนที่จะพาเจ้าของเดินข้ามถนน 

6. มีการจำกัดสายพันธุ์สุนัข 

          การคัดเลือกสุนัขนำทางไม่ได้ดูกันเฉพาะเรื่องการควบคุมอารมณ์และการพัฒนาการเท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังพิจารณาไปถึงเรื่องสายพันธุ์สุนัข สายพันธุ์ที่นิยม ได้แก่ โกลเดน รีทรีฟเวอร์ ลาบราดอร์ และเยอรมัน เชฟเพิร์ด เพราะเป็น 3 สายพันธุ์ที่มีขนาดพอเหมาะ ร่างกายแข็งแรง สามารถควบคุมอารณ์ได้ดี นอกจากนี้สายพันธุ์ผสมระหว่างโกลเดน รีทรีฟเวอร์ กับ ลาบราดอร์ หรือลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ก็ได้รับความนิยมมากเช่นเดียวกัน 

7. สุนัขไม่ได้ทำงานตลอดชีวิต 

          สุนัขนำทาง มีการจำกัดอายุในการทำงานประมาณ 7-10 ปี หลังจากนั้นก็จะเกษียณและนำสุนัขนำทางตัวใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ส่วนใหญ่แล้วสุนัขก็จะอยู่กับเจ้าของหรือครอบครัวเดิม แต่หากทางเจ้าของไม่สะดวกที่จะดูแลต่อก็จะมีการหาบ้านใหม่ให้หรือส่งตัวกลับไปยังโรงเรียนฝึกสุนัขที่เดิม 

          นอกจากนี้ น้องทราย ยังได้เผยถึงความรู้สึกอีกว่า แม้ผู้พิการทางสายตาจะมีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย ไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนคนทั่วไป แต่ก็ไม่อยากให้มองว่าเป็นความโชคร้าย หรือน่าสงสาร อยากให้ปฏิบัติกับผู้พิการอย่างเท่าเทียม และอยากให้เห็นว่าผู้พิการก็สามารถได้ทำสิ่งต่าง ๆ และใช้ชีวิตอย่างอิสระได้ด้วยตัวเอง หากทุกคนเข้าใจ ให้โอกาส และมีสิ่งช่วยเหลือที่ถูกต้อง 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก American Kennel Club, Vet Medic, Orcam, บีบีซีไทย
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ผมชื่อลูเต้อร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 คำตอบไขข้อข้องใจ สุนัขนำทางคนตาบอด แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงอย่างไร ? อัปเดตล่าสุด 25 กรกฎาคม 2562 เวลา 16:30 21,467 อ่าน
TOP