x close

ไขปัญหา โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว (FIP) ภัยเงียบที่ทาสและเหมียวควรระวัง

          ทำความรู้จัก โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว ภัยเงียบเหมียวที่ทาสควรระวัง จากเชื้อไวรัสโคโรนา จะรู้ได้อย่างไรว่า แมว ของเราเป็นโรค FIP มาดูวิธีสังเกตอาการ การตรวจรักษา และการป้องกันโรคนี้กันเลย

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว

          แมว เป็นสัตว์เลี้ยง ที่มีความสำคัญเหมือนคนในครอบครัว และคงไม่มีใครอยากให้ข่าวร้ายเกิดขึ้นกับเจ้าเหมียวตัวเล็ก ๆ แบบนี้ แต่หลายกรณีก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างเช่น โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว หรือ FIP โรคอันตรายจากเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมก็จะพาทาสแมวไปทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น ตั้งแต่สาเหตุ อาการ การตรวจ-รักษา และวิธีการป้องกัน เพื่อไม่ให้เหมียวสุดที่รักต้องล้มป่วยไป

สาเหตุการเกิดโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว

          โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว หรือ Feline Infectious Peritonitis (FIP) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารของแมว มี 2 ลักษณะ คือ แบบมีของเหลวสะสม และแบบไม่มีของเหลวสะสม มีโอกาสติดเชื้อได้กับแมวทุกวัย แต่จะพบมากในแมวเด็ก แมวที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และบริเวณที่มีการเลี้ยงแมวรวมกันหนาแน่น รวมถึงความเครียดในแมวก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้

อาการโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมวและความรุนแรงของโรค

          อาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว (FIP) ขึ้นอยู่ลักษณะของโรค 2 ลักษณะตามที่กล่าวไปข้างต้น คือ

          - แมวที่เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แบบมีของเหลวสะสม จะมีอาการซึม เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย ตัวร้อน เหงือกอาจมีสีขาวซีดหรือสีเหลือง น้ำหนักลง ท้องขยายคล้ายแมวท้อง เมื่อคลำดูจะมีลักษณะเป็นก้อน นอกจากนี้อาจมีอาการหายใจลำบากหรือหายใจช้าร่วมด้วย  

          - แมวที่เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แบบไม่มีของเหลวสะสม หรือแบบแห้ง จะสังเกตได้ยากกว่า เนื่องจากไม่มีอาการที่แน่นอน เช่น มีไข้สูงเล็กน้อย ซึม เดินโซเซ  และเบื่ออาหาร เหงือกมีสีเหลือง และหายใจลำบาก นอกจากนี้มีอาการตากระตุกหรือชักร่วมด้วย  

          ส่วนความรุนแรงของโรคนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสของแมวแต่ละตัว หากแมวที่ได้รับเชื้อโคโรนาไวรัส แต่ไม่มีการกลายพันธุ์ ก็อาจจะไม่เกิดโรค แต่สำหรับแมวที่เป็นโรค FIP และมีอาการของโรคแล้ว โดยทั่วไปพบว่าอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9 วัน หลังจากตรวจพบโรค

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว

การตรวจและรักษาโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว

          ในตอนนี้ยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่จะเป็นการรักษาเพื่อประคองอาการ เช่น การให้ยาลดอักเสบประเภทสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการสะสมของของเหลวในอกและท้องช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ในกรณีที่เจ้าเหมียวมีการสะสมของเหลวในช่องอก และช่องท้องเป็นปริมาณมาก อาจทำการเจาะดูดของเหลวออก เพื่อช่วยให้เจ้าเหมียวหายใจได้สะดวกขึ้น

วิธีป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว

          เนื่องจากโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมวยังไม่พบกลไกการติดต่อที่ชัดเจน แต่ไวรัสสามารถติดต่อระหว่างแมวสู่แมว จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลายหรืออุจจาระของแมวที่เป็นโรค รวมถึงการสัมผัสกับสิ่งที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ เช่น เสื้อผ้า ของเล่น ที่นอน ดังนั้นควรป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้แมวใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น ไม่ให้แมวกินข้าวหรือกินน้ำจากถ้วยเดียวกัน นอกจากนี้ควรพาแมวไปรับวัคซีนและตรวจสุขภาพตามกำหนด หมั่นสังเกตความผิดปกติและแยกแมวที่มีอาการหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคออกจากตัวอื่น ๆ ก็จะช่วยป้องกันภัยเงียบนี้ได้

          โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว หรือโรค FIP เป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายในแมวที่ไม่ควรประมาท เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโดยตรงและยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ดังนั้นผู้เลี้ยงแมวควรป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น แยกของใช้ของแมวออกจากกัน หมั่นสังเกตความผิดปกติ พาไปตรวจร่างกายพร้อมให้วัคซีนเป็นประจำ และพาไปพบสัตวแพทย์เมื่อสังเกตเห็นอาการผิดปกติ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคร้ายมาคร่าชีวิตแมวของเราไปอีกตัวนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก สารสัตวแพทยสภา, องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และ รายการสัตวแพทย์สนทนา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขปัญหา โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว (FIP) ภัยเงียบที่ทาสและเหมียวควรระวัง อัปเดตล่าสุด 16 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15:18:16 89,096 อ่าน
TOP