โรงพยาบาลสัตว์ในเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย เปิดบริการรักษาโรคมะเร็งในสุนัขด้วยการฉายรังสีเป็นครั้งแรก
ก่อนหน้าการรักษามะเร็งในสุนัข ได้แก่ การใช้ยาต้านมะเร็ง หรือหากอยู่ในะระยะร้ายแรงก็จำเป็นต้องตัดอวัยวะบางส่วนทิ้ง เพื่อป้องกันเชื้อมะเร็งลุกลามแบบถาวร แต่การรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา บางครั้งโรงพยาบาลสัตว์ก็อยู่ไกลทำให้เจ้าของไม่สามารถพาสุนัขไปรักษาได้ โรงพยาบาลสัตว์ The Small Animal Specialist Hospital จึงได้ใช้เงินทุนกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 160 ล้านบาท เปิดบริการรักษาโรคมะเร็งในสุนัขด้วยการฉายรังสีในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
ซึ่งกระบวนการฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็งในสุนัขนั้น ก็ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับของมนุษย์และใช้เวลาในการรักษาประมาณ 20 นาที ส่วนค่าใช้จ่ายก็ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง เริ่มต้นที่ประมาณ 3,000-13,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 95,700-415,000 บาท
ด้าน ดร.ซานดร้า เงวียน (Dr. Sandra Nguyen) หนึ่งในทีมสัตวแพทย์ที่ศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งในสุนัข กล่าวว่า การฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งในสุนัขครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการรักษาโรคมะเร็งในสุนัข เพราะช่วยลดเวลาและผลข้างเคียงจากการรักษา
ส่วนเจ้าของสุนัขที่เข้ารับการรักษา เช่น ซานเธีย ฮาร์วิสัน (Zanthia Harvison) เจ้าของดัสตี้ (Dusty) สุนัขพันธุ์บอร์เดอร์ คอลลี่ ซึ่งมีเนื้องอกที่จมูกก็เผยว่า มันคุ้มค่ามาก ๆ เพราะสุนัขของเธอไม่ต้องทนเจ็บปวดเลย แถมยังไม่ต้องตัดอวัยวะออก หลังจบการรักษาเจ้าดัสตี้ก็กลับมาวิ่งเล่น ร่าเริง สดใสได้เหมือนเดิมเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก news.ch3thailand, abc, news.com.au และ dailytelegraph
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Small Animal Specialist Hospital และ sashvets
คนรักสัตว์ชื่นชม...โรงพยาบาลสัตว์ในซิดนีย์เปิดบริการรักษามะเร็งในสุนัขด้วยการฉายรังสีเป็นครั้งแรก
| 3,061 อ่าน