พุดเดิ้ล สุนัข แสนฉลาด


พุดเดิ้ล (poodle)



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          สุนัข พุดเดิ้ล ได้ชื่อว่าเป็น สุนัข ที่มีความนิยมอันดับหนึ่งของโลก และขึ้นชื่อว่าฉลาด ฝึกง่าย สอนง่าย ขี้อ้อน และประจบเก่งเป็นที่สุด แถมยังอดทนไม่ขี้แย เลี้ยงง่าย แม้จะปากเปราะไปบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นหมาที่เห่าไม่รู้เรื่อง ยิ่งในบ้านเรา พุดเดิ้ล สายพันธุ์นิยมเลี้ยงกันคือ พุดเดิ้ลทอย มันกลายเป็นหวานใจตัวจ้อยของหลายๆ ครอบครัว เพราะขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ แถมยังมีลักษณะเป็นเหมือนเหมือนตุ๊กตาที่มีชีวิต สดใสมีชีวิตชีวา มีนิสัยรักสวยรักงาม ชอบเสริมสวย ชอบเที่ยว และเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้เร็ว

          พุดเดิ้ล (Poodle) มีถิ่นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่ไม่สามารถสรุปแน่ชัดว่าต้นกำเนิดจริงๆ เป็นประเทศเยอรมนีหรือประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ประเทศต่างนิยมเลี้ยง พุดเดิ้ล ไว้เพื่อใช้งาน "เก็บของในน้ำ" เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็คือ "นกเป็ดน้ำ" ที่ชาวไร่ชาวนายิงได้

          ในประเทศเยอรมนี พุดเดิ้ล ถูกเรียกว่า "Pudel" หรือ "Pudelin" ซึ่งแปลว่า "กระโดดน้ำ" (สันนิษฐานกันว่าชื่อ Poodle ในภาษาอังกฤษที่เราเรียกกันนั้นก็น่าจะมีรากศัพท์มาจากคำว่า Pudel หรือ Pudelin ส่วนในประเทศฝรั่งเศส พุดเดิ้ลเป็นที่นิยมอย่างสูงมากจนได้การยกย่องให้เป็นสุนัขประจำชาติ ที่นี่...พวกมันมีฉายาว่า "Caniche" ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก "chien canard" แปลว่า "สุนัขล่าเป็ด"

          และเนื่องจากถูกเลี้ยงไว้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้งาน การตัดขนของ พุดเดิ้ล ในสมัยแรกๆ จึงถูกออกแบบให้เหมาะสมกับการว่ายน้ำเป็นหลัก ไม่เน้นไปที่ความสวยงาม แต่อย่างที่รู้ๆ กันว่าฝรั่งเศสนั้นเป็นศูนย์กลางแห่งแฟชั่นและศิลปะนานาชนิด ในเวลาต่อมาการตัดแต่งทรงขนของ พุดเดิ้ล จึงได้เกิดการพัฒนาเป็นทรงต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้ สุนัข พุดเดิ้ล น่าหลงใหลมากขึ้นเป็นทวีคูณ

 ลักษณะสายพันธุ์ สุนัข พุดเดิ้ล

          พุดเดิ้ล ถูกจัดอยู่กลุ่ม สุนัข ที่ไม่ใช้ในเกมกีฬา (Non sporting Group) เป็นสุนัขประเภทสวยงาม ปากเรียวยาว ดวงตากลมโต หูห้อยลงมาปิดแก้ม ขนดกและหยิกชนิดติดหนัง ขนสั้นและเงางาม ขนค่อนข้างละเอียด เรียบ หยาบเล็กน้อยและไม่มีขนปุกปุย สีขนมีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลแก่ มีขนสีขาวแต้มบริเวณหน้าอกเรียกว่า สตาร์ ข้อเท้า และปลายหาง อาจจะมีจุดสีขาวเล็กน้อยบริเวณใบหน้า จมูกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อมันตกใจ

          สุนัข พุดเดิ้ล แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

          1. พุดเดิ้ลทอย (Toy Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 12 นิ้ว หนักประมาณ 6 กิโลกรัม

          2. พุดเดิ้ล มินิเจอร์ (Miniture Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดกลาง สูงประมาณ 11-15 นิ้ว หนักประมาณ 11 กิโลกรัม

          3. พุดเดิ้ล สแตนดาร์ด (Standard Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดใหญ่ สูงประมาณ 18-22 นิ้ว หนักประมาณ 20 กิโลกรัม

          แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ของ พุดเดิ้ล ให้เล็กลงไปอีก จนได้ขนาด พุดเดิ้ล น้องใหม่ที่มีชื่อว่า พุดเดิ้ลทีคัพ (Tea-Cup Poodle) เป็นขนาดเล็กที่สุดในตระกูล พุดเดิ้ล จะมีส่วนสูงไม่เกิน 8 นิ้ว และน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 2.5-3.5 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ พุดเดิ้ลทีคัพ นี้แม้ยังไม่ได้รับการรับรองจากสถาบันสุนัขใดๆ แต่สำหรับกลุ่มผู้เลี้ยง พุดเดิ้ล แล้วกลับตรงกันข้าม เพราะ พุดเดิ้ลทีคัพ กลายเป็นที่นิยมไปทั่วและเป็นที่ต้องการอย่างสูง แม้ว่าจะมีราคาค่าตัวที่แพงลิบลิ่ว

          อย่างไรก็ตาม พุดเดิ้ล ทั้งหลายที่กล่าวมาจะมีมาตรฐานสายพันธุ์ที่เหมือนกันหมด ทั้งสภาพขน สี นิสัยใจคอ และอื่นๆ จะต่างกันตรงที่ "น้ำหนัก" และ "ความสูง" เท่านั้น

          ถ้าพูดถึงเรื่องนิสัยใจคอของเจ้า พุดเดิ้ล ทุกขนาด จะเป็น สุนัข ที่น่าหยิกน่าหมั่นไส้ แสนประจบ ซน และขี้เล่น พุดเดิ้ล พันธุ์เล็กกับ พุดเดิ้ลทอย จะไม่ค่อยไว้ใจคนแปลกหน้า และมีความอดทนกับเด็กน้อยกว่าพันธุ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม พุดเดิ้ล เป็นสุนัขที่ฝึกง่าย สั่งให้ทำอะไรก็ทำ ซึ่งคุณก็ควรฝึกสอนตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วคุณจะเห็นว่ามันมีความสามารถในการทำตามคำสั่งที่ยอดเยี่ยมทีเดียว ข้อเสียของมันก็คือมันมีนิสัยชอบเห่า แต่คงเพราะตัวเล็กไปหน่อยจึงได้แต่เห่าอย่างเดียว ทำอะไรใครไม่ได้



พุดเดิ้ล (poodle)



 อาหารและการดูแล สุนัข พุดเดิ้ล

          อาหารการกินของ สุนัข พุดเดิ้ล ควรให้เป็นอาหารสำเร็จรูปจะดีที่สุด อาหารสำเร็จรูปนั้นมีอยู่หลายสูตรด้วยกัน ได้แก่ อาหารสูตรลูกสุนัข อาหารสูตรสุนัขโต และอาหารสูตรสุนัขแก่ การให้อาหารก็ควรให้ตรงตามอายุและสูตร เนื่องจากสุนัขในแต่ละวัยนั้นมีความต้องการอาหารที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ลูกสุนัข จำเป็นต้องได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีนสูงกว่าสุนัขโต ในขณะที่ร่างกายของสุนัขโตจะต้องการอาหารประเภทพลังงานมากกว่าโปรตีน อย่างนี้เป็นต้น และปริมาณการให้อาหารก็ไม่ควรมากจนเกินไป เพราะ พุดเดิ้ล จัดเป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่กินไม่มาก

          นอกจากเรื่องของโภชนาการแล้ว การให้ อาหารสุนัข ยังควรคำนึงถึงความสะอาดเป็นสำคัญ เจ้าของต้องคอยหมั่นดูแลภาชนะใส่อาหารและสถานที่กินให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่างๆ ที่พร้อมจะทำร้ายสุนัขของเรา ส่วนในด้านการดูแลความสะอาดของ พุดเดิ้ล จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องหู เพราะ พุดเดิ้ล มีใบหูที่ใหญ่ หนา ห้อยปรกลงมา จึงต้องหมั่นสำรวจดูใบหูบ่อยๆ แล้วใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดให้หมดจด ซึ่งจะดีมากหากจะหยอดน้ำยาเช็ดหูเข้าไปก่อนประมาณ 5 นาทีเพื่อทำให้สิ่งสกปรกอ่อนตัว และง่ายในการเช็ดออกมา แต่ระวังอย่าแหย่สำลีลึกจนเกินไป เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อหูชั้นในได้

          นอกจากนี้ ตาก็เป็นอวัยวะสำคัญที่พบปัญหา พูเดิ้ล ส่วนใหญ่จะมีร่องน้ำตาที่เห็นได้ค่อนข้างชัด ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้คราบน้ำตาหรือสิ่งสกปรกไปหมักหมมได้ง่าย เจ้าของจึงควรคอยเช็ดทำความสะอาดให้ทุกวัน เพราะหากทิ้งไว้นานๆ คราบนั้นจะฝังแน่นอย่างถาวร เช็ดไม่ออก นอกจากนั้น ยังควรหมั่นตรวจดูดวงตาของ สุนัข พูเดิ้ล ด้วยว่ามีฝ้าขาวๆ หรือรอยขีดข่วน รอยแผลบ้างหรือไม่

 โรคและวิธีการป้องกัน

          โรคที่มักพบใน พุดเดิ้ล จะคล้ายๆ กับชิสุ คือเรื่องตา เนื่องจากเป็นน้องหมาตาโตแบ๊ว เหมือนๆ กันจึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดการระคายเคืองและเป็นโรคตาได้ง่าย แต่สำหรับ พูเดิ้ล แล้วสายพันธุ์ของเขามีที่มีปัจจัยโน้มนำที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกได้มากกว่าสุนัขพันธุ์อื่นๆ เจ้าของสามารถสังเกตอาการป่วยของพูเดิ้ลเมื่อป่วยด้วยโรคตา สังเกตได้จากเริ่มตาแดง ตาฝ้า บางครั้งจะมีน้ำตาเอ่อ มีขี้ตามากผิดปกติ ชอบเกาตาหรือไถตากับพื้นหรือฝาผนัง ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดสุด คือ การเดินชนของ เดินขึ้นบันไดลงบันไดไม่ค่อยถนัด หาชามข้าวไม่พบ เป็นต้น ซึ่งหากพบมีอาการเหล่านี้ควรนำมาพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและได้รับการรักษาอย่างตรงจุด

          นอกจากโรคเกี่ยวกับตาแล้ว พุดเดิ้ล ยังมักจะมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจเป็นโรคประจำกายอีกหนึ่งโรค โรคหัวใจ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในโครงสร้างและหน้าที่ของหัวใจ หรือความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งอาการของ สุนัข ที่มีปัญหา โรคหัวใจ จะมีอาการซึมเศร้า  น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หรือกินอาหารได้น้อยลง ท้องกาง ไอแห้งๆ และมักไอเวลากลางคืน มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง หายใจลำบาก เหงือกซีด  เป็นลมหมดสติ 

          ทั้งนี้ สุนัข พุดเดิ้ล ที่เป็นโรคหัวใจ สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่จะต้องดูแลเรื่องการให้ยาอย่างใกล้ชิด ควรงดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้สัตว์เหนื่อย เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น และสิ่งสำคัญคือ ระวังในเรื่องการให้อาหารและน้ำที่มีส่วนผสมของเกลือ ต้องมีปริมาณเกลือต่ำ

          นอกจากโรคที่กล่าวมานี้ ยังมีโรคอื่นๆ ที่สามารถคุกคาม พุดเดิ้ล ตัวโปรดของคุณได้ การได้รับวัคซีนต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็นถือเป็นเรื่องสำคัญของ สุนัข ทุกพันธุ์ รวมทั้งอาหาร การเลี้ยงดู ความเอาใจใส่ รวมถึงสุขภาพจิต เหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ พูเดิ้ล ของคุณเป็นสุนัขที่ดีพร้อมทั้งร่างกายและอารมณ์



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


- poodlethai.com
- dog.honda.co.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พุดเดิ้ล สุนัข แสนฉลาด อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2552 เวลา 21:52:46 115,954 อ่าน
TOP
x close