เรื่องเบื้องหลังภาพรีดเลือดแมงดา สัตว์ทะเลเลือดสีฟ้า ผู้มีคุณต่อมนุษย์



          เบื้องหลังภาพรีดเลือดแมงดา สัตว์ทะเลเลือดสีฟ้า ผู้มีคุณต่อมนุษย์ เพราะเลือดของมันมีประโยชน์อย่างมากในวงการแพทย์


          พูดถึง แมงดาทะเล หลายคนอาจคิดถึงเมนูอาหารทะเลแสนอร่อย แต่นอกจากจะเป็นอาหารของมนุษย์แล้ว พวกมันถือเป็นสัตว์ที่มีคุณอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษย์ แมงดาทะเลแอตแลนติกมีเลือดสีฟ้า และนั่นไม่ได้มีความประหลาดแค่ที่สีสัน แต่ยังมีคุณสมบัติพิเศษช่วยตรวจจับเชื้อปนเปื้อนในวัคซีนได้ อันเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวงการแพทย์ และนั่นทำให้พวกมันถูกจับมารีดเลือด เพื่อช่วยให้มนุษย์อย่างเราอยู่รอดจากปลอดจากเชื้อแปลกปลอมที่อาจก่ออันตราย

          เลือดสีฟ้าของแมงดาทะเลแอตแลนติก (ชื่อวิทยาศาสตร์ Limulus polyphemus) มาจากสารคอปเปอร์ หรือ ทองแดง ซึ่งทำหน้าที่จับกับออกซิเจนลำเลียงไปเลี้ยงร่างกายของมัน เช่นเดียวกับที่ฮีโมโกลบินทำให้เลือดมนุษย์มีสีแดง และเลือดสีฟ้าของมันนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษ สามารถจับกับแบคทีเรียประเภทเอนโดท็อกซินได้ โดยจะเข้าโอบล้อมแบคทีเรียไว้แล้วมีลักษณะหยุ่นคล้ายเจล คุณสมบัติพิเศษที่ว่านี้อยู่ในขั้นดีเยี่ยม ถึงขนาดมีละเอียดตรวจจับสิ่งแปลกปลอมได้แม้อยู่ในอัตราเพียงหนึ่งในล้านล้านส่วน

          มนุษย์เราจึงอาศัยความพิเศษดังกล่าว นำเลือดของแมงดาทะเลมาสกัดเอาสาร "โคอากูแลน" (coagulan) ที่มีคุณสมบัติพิเศษนั้นมาทำเป็นชุดมดสอบหาเอนโดท็อกซินที่เรียกว่า LAL (Limulus amebocyte lysate) ใช้ในการตรวจหาแบคทีเรียแปลกปลอมในวัคซีนหรือใช้ในกระบวนการแพทย์ใด ๆ ก็ตามที่ต้องฉีดสารเข้าไปในตัวผู้ป่วย หากไม่เกิดปฏิกิริยาโคอากูเลชั่น ก็เป็นอันวางใจได้ว่าสะอาดปลอดภัย กระบวนการนี้ช่วยรักษาชีวิตมนุษย์จากความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมานักต่อนักแล้ว

          เคมีพิเศษจากเลือดของแมงดาทะเลสามารถออกฤทธิ์ตรวจจับเอนโดท็อกซินได้เห็นผลภายใน 45 นาที กลายเป็นการพัฒนาทางการแพทย์ก้าวใหญ่ จากเมื่อก่อนที่ทำการทดลองความปลอดเชื้อของวัคซีนกับกระต่าย และต้องรอเวลาถึง 48 ชั่วโมงกว่าจะทราบผล

          แต่เพราะคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อมนุษย์เช่นนี้ ทำให้แมงดาทะเลต้องถูกจับมารีดเลือด ในแต่ละปี แมงดาทะเลแอตแลนติกราว 250,000 ตัวจากแถบชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ถูกจับมารีดเลือดออกราว 30% ของร่างกาย แล้วจึงนำกลับไปปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยพยายามปล่อยในจุดที่ไกลกว่าเดิมที่ถูกจับมา เพื่อมันจะไม่ถูกจับมารีดเลือดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ก็ยังโชคร้ายที่แมงดาทะเลราว 10-30% ตายลงในที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า แมงดาทะเลตัวเมียที่ถูกรีดเลือดไป มีอัตราการวางไข่ต่ำลง ส่งผลต่อจำนวนประชากรแมงดาทะเลเป็นอย่างมาก

          อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์สารที่มีคุณสมบัติเดียวกับเลือดแมงดาทะเลได้แล้ว ก็เป็นที่คาดหวังว่าสถานการณ์ประชากรแมงดาทะเลจะไม่ต้องเผชิญภาวะวิกฤติ จากการที่มนุษย์ได้แสดงหาประโยชน์จากชีวิตของพวกมัน...
 
ขอบคุณข้อมูลจาก The Atlantic

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องเบื้องหลังภาพรีดเลือดแมงดา สัตว์ทะเลเลือดสีฟ้า ผู้มีคุณต่อมนุษย์ อัปเดตล่าสุด 21 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13:51:55 56,243 อ่าน
TOP
x close