
สัตว์พันธุ์ใหม่ที่บอร์เนียว (ไทยโพสต์)
หอยทากจอมเจ้าชู้ที่ใช้วิธีแผลงศรรักเลือกคู่ เป็นหนึ่งในสัตว์ป่ากว่า 120 ชนิด ที่นักสำรวจจากกลุ่มอนุรักษ์ WWF ค้นพบเป็นครั้งแรกในป่าฝนบอร์เนียว
นอกจากนี้ ยังมีสัตว์แปลก ๆ อีกหลายพันธุ์ เช่น กบไร้ปอดที่หายใจทางผิวหนัง กบบินได้ที่ผิวหนังและตาเปลี่ยนสีได้ งูสีส้ม และตั๊กแตนกิ่งไม้ยักษ์ที่ยาวสุดในโลก วัดความยาวได้ถึง 56.7 เซนติเมตร


WWF เริ่มต้นศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลสัตว์สายพันธุ์ใหม่ ๆ ในป่าฝนบนเกาะบอร์เนียวมาตั้งแต่ปี 2007 เพื่ออนุรักษ์ป่าฝนที่เก่าแก่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเอาไว้
บอร์เนียวเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเป็นที่ตั้งร่วมกันของ 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน
"แม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี แต่ความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของป่าแห่งนี้ยังรอคอยให้นักสำรวจเดินทางมาค้น หาอยู่เสมอ" แอดัม โทมาเซ็ก หัวหน้าโครงการสำรวจของ WWF กล่าว
นอกเหนือจากสัตว์ที่ว่ามาแล้ว WWF ยังค้นพบพันธุ์พืชใหม่ ๆ อีก 67 ชนิด ปลา 17 สายพันธุ์ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอีก 29 ชนิด
ป่าฝนบอร์เนียวได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมของแมลงน่าเกลียดน่ากลัว อาทิ แมลงสาบยักษ์ อีกทั้งยังเป็นบ้านของลิง 10 สายพันธุ์ นกกว่า 350 ชนิด และสัตว์เลี้อยคลานกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำรวมกันราว 150 สายพันธุ์ รวมถึงพืชพันธุ์หายากอีกกว่า 10,000 ชนิด ที่หาไม่ได้ในป่าแห่งอื่นของโลก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก panda.org