ไข้หัดแมว โรคอันตรายในเหมียว รู้ไว้ก่อนช่วยป้องกันได้

          ทำความรู้จัก โรคไข้หัดแมว โรคอันตรายสำหรับแมว ถ้าไม่อยากให้เหมียวป่วย มาดูข้อมูลเกี่ยวกับไข้หัดแมว ทั้งสาเหตุ อาการ วิธีการรักษา และวิธีป้องกันให้ห่างจากโรคนี้กัน 

วัดไข้แมว

          ช่วงนี้ทาสแมวหลายคนอดเป็นห่วงเหมียวไม่ได้ หลังมีข่าวการระบาดของโรคไข้หัดแมวในหลายพื้นที่ วันนี้กระปุกดอทคอมเลยรวบรวมข้อมูลโรคหัดแมวมาฝาก ไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับดูแลและสังเกตอาการเหมียวที่บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เหมียวป่วย หรือหากเป็นแล้วก็สามารถช่วยได้ทันท่วงที หากสงสัยว่าโรคไข้หัดแมว คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แมวป่วยมีอาการแบบไหน จะต้องดูแลยังไง แล้วเราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้อย่างไรบ้าง ก็ตามไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ 

โรคไข้หัดแมว เกิดจากอะไร

          โรคไข้หัดแมว (Feline Distemper) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคลำไส้อักเสบในแมว (Feline Parvovirus Enteritis) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพาร์โวไวรัส (Feline Parvovirus) เป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร และติดต่อได้ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ และสามารถพบได้ในสัตว์ตระกูลเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเสือ สิงโต แมวป่า รวมถึงสัตว์อื่น ๆ อย่าง สกังก์ เฟอร์เรต มิงค์ และแร็กคูน 

ไข้หัดแมว

อาการของโรคไข้หัดแมว

          โรคไข้หัดแมวมีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน อาการที่สังเกตได้คือ มีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย ร่างกายขาดน้ำ อ่อนเพลีย อึมีกลิ่นคาวปนเลือด หากรุนแรงก็ตายเฉียพลัน ทั้งนี้ แมวป่วยส่วนมากมักไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติ ยกเว้นลูกแมวที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน จะแสดงอาการชัดเจน โดยพบอัตราการตายสูงในลูกแมวที่มีอายุระหว่าง 3-5 เดือน และพบการตายเฉียบพลันในลูกแมวที่มีอายุตั้งแต่ 4 สัปดาห์ ถึง 1 ปี สำหรับแมวโตเมื่อเกิดการติดเชื้อระยะหนึ่งแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเองได้ และอาการของแมวจะดีขึ้น แต่แมวกลุ่มนี้ก็สามารถแพร่เชื้อผ่านอุจจาระได้หลายสัปดาห์ 

          อย่างไรก็ตาม หากพบอาการข้างต้นที่กล่าวมา ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะไข้หัดแมว ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยเฉพาะแมวที่มีอาการอาเจียน ท้องเสีย และไม่กินอาหาร เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และช็อกได้ 

ไข้หัดแมว กับ ไข้หวัดแมว ต่างกันอย่างไร 

          ทั้ง 2 โรคนี้แตกต่างกันหลาย ๆ ด้าน ทั้งเชื้อโรคและอาการ เพราะไข้หวัดแมว (Feline Upper Respiratory Infection) เกิดได้จากไวรัสหลายชนิดคือ Feline Viral Rhinotracheitis, Feline Calicivirus, Chlamydiosis, Feline Mycoplasmal infection และ Bordetella infection ติดต่อได้จากการสัมผัสแมวป่วย ผ่านสารคัดหลั่ง และเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอากาศ ระบาดได้ง่ายหากมีการเลี้ยงแมวหนาแน่น อาการจะค่อนข้างรุนแรงในแมวเด็กและแมวสูงอายุ เบื้องต้นสามารสังเกตความผิดปกติได้ในแมวที่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก มีน้ำตามาก รวมถึงมีแผลในช่องปาก หากรุนแรงจะพบอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบและอาจทำให้แมวตายได้ 

ป้อนยาแมว

การรักษาโรคไข้หัดแมว 

          ขั้นแรกสัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจหาไวรัส รวมถึงประวัติการฉีดวัคซีนย้อนหลังของแมว จากนั้นจะรักษาตามอาการ เพื่อประคองให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง เช่น งดการให้น้ำและอาหารในช่วงแรก เพื่อลดการทำงานของลำไส้และลดการอาเจียน แล้วให้สารน้ำ (Fluid Therapy) ผ่านทางเส้นเลือดแทน ร่วมกับรักษาด้วยยาตัวอื่น เช่น ยาลดอาเจียน และยาปฏิชีวนะเพื่อความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การรักษาใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน เมื่อแมวมีอาการดีขึ้นจึงจะเปลี่ยนมาให้อาหารอ่อน ๆ 

วิธีป้องกันก่อนเป็นโรคไข้หัดแมว 

          เนื่องจากไข้หัดแมวเป็นโรคติดต่อ ที่สามารถเกิดกับแมวได้ทุกวัย ดังนั้นหากเป็นแมวป่วยควรแยกเลี้ยงออกจากแมวตัวอื่น ๆ และหมั่นทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้รวมถึงบริเวณที่พักอาศัยให้สะอาด ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ เช่น น้ำยาฟอกขาวผสมน้ำในอัตรา 1:32 ส่วน

          แต่อย่างไรก็ตามทางที่ดีควรให้วัคซีนตามที่สัตวแพทย์แนะนำ โดยควรเริ่มให้วัคซีนเมื่อลูกแมวมีอายุ 8-9 สัปดาห์ และให้ซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 4 สัปดาห์ และฉีดวัคซีนซ้ำเป็นประจำทุกปี สำหรับแมวที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ควรงดพาแมวออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 

          โรคไข้หัดแมว เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยเฉพาะลูกแมวอายุ 3-5 เดือน แต่ก็เป็นโรคร้ายแรงที่สามารถป้องกันได้ โดยการฉีดวัคซีนให้ครบตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์แนะนำ แต่ในช่วงที่มีการระบาดหนักแบบนี้เจ้าของก็ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของแมวเอาไว้ เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับแมวทุกช่วงวัย หากเห็นความผิดปกติก็ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพื่อรักษาได้ทันท่วงที ให้น้องแมวอยู่กับเราไปนาน ๆ 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไข้หัดแมว โรคอันตรายในเหมียว รู้ไว้ก่อนช่วยป้องกันได้ อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2563 เวลา 15:58:36 39,313 อ่าน
TOP
x close