ฮีตสโตรก โรคอันตรายของหมา-แมวที่มากับความร้อน

          โรคฮีตสโตรก โรคอันตรายของสัตว์เลี้ยงที่มาพร้อมกับความร้อน สาเหตุเกิดจากอะไร หากหมา-แมวเป็นแล้วมีอาการแบบไหน ต้องดูแลยังไง มาดูกัน 

โรคฮีทสโตรก

          โรคฮีตสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดด ไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงหน้าร้อนเท่านั้น แต่สัตว์เลี้ยงยังเกิดอาการฮีตสโตรกได้หากอยู่ในบริเวณที่มีอากาศอบอ้าวและอุณหภูมิสูง ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายที่เจ้าของควรระวังและหมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงให้ดี เพราะจะได้ให้ความช่วยเหลือทัน อยากรู้ว่า โรคฮีตสโตรก มีที่มาจากอะไร อาการเบื้องต้นของโรคนี้เป็นอย่างไร มีวิธีช่วยเหลือดูแลเบื้องต้นและป้องกันไม่ให้เกิดฮีตสโตรกในหมา-แมวได้อย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน 

สาเหตุการเกิดฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยง

 
โรคฮีทสโตรก

          โรคฮีตสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงที่สูญเสียการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย เนื่องจากหมา-แมวไม่ได้ขับเหงื่อทางร่างกายเหมือนกับคน แต่จะระบายความร้อนผ่านการหายใจ ถ้าหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง ร้อนและอบอ้าวมาก ๆ หรืออากาศถ่ายเทได้ไม่ดีพอ เพราะโดยปกติแล้วอุณหภูมิร่างกายของสัตว์จะอยู่ที่ประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสเมื่อไร ก็จะแสดงอาการของโรคฮีตสโตรกให้เห็น และจะเริ่มเป็นอันตรายกับตับ ไต หัวใจ รวมไปถึงสมอง นอกจากนี้จริง ๆ แล้วโรคฮีตสโตรกสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาและทุกฤดู เพียงแต่ช่วงหน้าร้อนเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมากที่สุด 

          ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดฮีตสโตรก ได้แก่ การขังสัตว์เลี้ยงในที่อับอากาศไม่ถ่ายเท การปล่อยให้สัตว์เลี้ยงออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้งเป็นเวลานาน กินน้ำน้อย ออกกำลังกายหนัก ๆ และการเป่าขนโดยใช้ความร้อนสูง 

อาการโรคฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยง


โรคฮีทสโตรก

          อาการโรคฮีตสโตรกสามารถสังเกตได้จากการที่สัตว์เลี้ยงแลบลิ้นออกมามากจนผิดปกติ มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ชีพจรเต้นเร็ว กระวนกระวาย เดินโซเซ กระหายน้ำรุนแรง น้ำลายเหนียวหรือยืด ลิ้น-เหงือกมีสีแดงเข้มแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง เหงือกหรือจมูกแห้ง มีอาการเซ สับสนมึนงง อาเจียนบ่อย (และมีเลือดปน) ท้องเสียเฉียบพลัน นอนนิ่งเกร็งขาทั้ง 4 ข้าง ตามตัวมีอุณหภูมิสูง หัวใจเต้นเร็ว ขับถ่ายน้อย อีกทั้งอาจจะเลือดกำเดาไหลหรือชักร่วมด้วย หากอาการรุนแรงมากอาจถึงขั้นตายได้ 
 
          ทั้งนี้ ความรุนแรงของโรคฮีตสโตรกในหมา-แมวมีความแตกต่างกันไปตามขนาดรูปร่างของสัตว์เลี้ยงและระยะเวลาที่อยู่ในที่ร้อนจัด ยิ่งอยู่ในพื้นที่นานและร้อนจัดมาก ๆ ก็ยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้น

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นฮีตสโตรก


โรคฮีทสโตรก


1. นำสัตว์เลี้ยงออกจากบริเวณที่มีความร้อนสูง

 
          หากเป็นไปได้ควรพาสัตว์เลี้ยงมาอยู่ในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลมโกรก หรือบริเวณที่มีไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ควรห้ามไม่ให้สัตว์เลี้ยงออกไปทำกิจกรรมหรือวิ่งเล่นที่กลางแจ้ง จนกว่าจะตรวจเช็กจนมั่นใจว่าสัตว์เลี้ยงหายเป็นปกติแล้ว 
 

2. หาน้ำให้กิน

 
          ในระหว่างนี้ควรให้สัตว์เลี้ยงกินน้ำทีละน้อย อย่าปล่อยให้สัตว์เลี้ยงกินน้ำเยอะ ๆ ในครั้งเดียว เพราะอาจทำให้อาเจียนได้ ส่วนในกรณีที่สัตว์เลี้ยงไม่สนใจให้ใช้น้ำซุปไก่หรือน้ำซุปเนื้อแทนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรบังคับหากสัตว์เลี้ยงไม่ยอมกินด้วยตัวเอง

3. ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย

 
          เจ้าของสามารถใช้ผ้าเย็นเช็ดตัวสัตว์เลี้ยงเพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ โดยเฉพาะบริเวณใต้อุ้งเท้า ใต้ท้อง รักแร้ ขาหนีบ ง่ามนิ้วต่าง ๆ แต่ไม่ควรใช้ผ้าเย็นห่มตัวทิ้งไว้ เพราะนอกจากจะเป็นการลดการระบายอากาศแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความร้อนให้กับร่างกายของสัตว์เลี้ยงด้วย

4. รดน้ำบนตัวสุนัข 

 
          ควรใช้น้ำที่มาจากก๊อกน้ำหรือสายยางรดน้ำลงบนตัวสุนัขด้วยระดับความดันน้ำที่ไม่แรงจนเกินไป และพยายามหลีกเลี่ยงการพาสุนัขไปแช่น้ำโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นอ่างอาบน้ำหรือสระว่ายน้ำ เพราะการแช่น้ำจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายของสุนัขลดลงเร็วเกินไป ทำให้มีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน หรือท้องอืด

5. พาไปโรงพยาบาลสัตว์

 
          ถึงแม้จะดูแลเป็นอย่างดีแต่ก็ไม่ควรวางใจเสียทีเดียว หากเป็นไปได้ควรพาไปพบสัตวแพทย์ด้วย เพราะแม้ภายนอกจะดูเป็นปกติดี แต่อวัยวะภายในร่างกายของสัตว์เลี้ยงอาจมีบางส่วนที่เกิดความเสียหายจากโรคฮีตสโตรกและมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น สมองบวม ไตวายเฉียบพลัน อาการอักเสบ ถ้าหากไม่วินิจฉัยให้ละเอียดก็อาจทำให้ถึงตายได้


วิธีป้องกันการเกิดโรคฮีตสโตรก


โรคฮีทสโตรก

1. เลี่ยงต้นเหตุของโรคหรือทำให้อาการกำเริบ

 
          หมา-แมวที่มีอายุมาก เป็นโรคอ้วน และเคยมีประวัติโรคฮีตสโตรก หรือโรคชักมาก่อน มีโอกาสที่จะเป็นโรคฮีตสโตรกได้ง่าย จึงทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าสัตว์เลี้ยงทั่วไป โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงจมูกสั้น เช่น ปั๊กหรือบูลด็อก ส่วนสัตว์เลี้ยงพันธุ์อื่น ๆ ก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนจัดไว้ก่อนจะดีกว่า

2. ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในรถ

 
          หากไม่จำเป็นจริง ๆ ในช่วงฤดูร้อนไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในรถ ถึงแม้ว่าอากาศภายในรถจะไม่ร้อน หรือเปิดหน้าต่างรถทิ้งไว้ก็ตาม เพราะอุณหภูมิในรถช่วงฤดูร้อนแบบนี้สามารถเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายกับสัตว์เลี้ยงมากทีเดียว

3. หมั่นตัดแต่งขนสัตว์เลี้ยง

 
          สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีขนยาว เจ้าของควรพาไปโกนหรือตัดขนให้สั้นลงด้วยเพื่อลดการสะสมความร้อน ที่สำคัญหากเป็นไปได้ควรพาสัตว์เลี้ยงไปตัดขนกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้ออกแบบขนไปในตัวด้วย
 

4. นำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 


          หากอากาศร้อนจัดหรืออยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง ควรพาสัตว์เลี้ยงมาอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือระหว่างวันที่มีแดดร้อนมาก ๆ หากไม่สามารถทำได้ก็ควรพาสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในที่ที่มีร่มเงา และมั่นใจว่าปลอดภัยกับสัตว์เลี้ยงแทน

5. พาสุนัขไปเล่นน้ำ


          ในช่วงหน้าร้อน หากบ้านอยู่ใกล้กับแม่น้ำ หรือมีสระน้ำอยู่ในบ้าน ควรหาโอกาสพาสัตว์เลี้ยงไปเล่นน้ำ หรือไม่ก็ใช้น้ำลูบตัวสัตว์เลี้ยงบ้าง ก็จะช่วยป้องกันโรคฮีตสโตรกได้ทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงลงเล่นน้ำลึกจนเกินไปนักหากสัตว์เลี้ยงมีทักษะการว่ายน้ำไม่ดีพอ

          และนี่คือโรคร้ายที่ก่ออันตรายให้กับสัตว์เลี้ยงได้อย่างเฉียบพลันและรุนแรงในช่วงที่มีอากาศร้อนหรืออยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง ซึ่งเจ้าของควรระวังให้ดีและคอยสังเกตอาการความผิดปกติ เพราะถึงแม้ไม่เคยมีประวัติก็อาจเป็นได้ อีกทั้งยังเป็นอันตรายถึงชีวิต ฉะนั้นเตรียมพร้อมรับมือเอาไว้ก่อนจะดีกว่านะคะ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฮีตสโตรก โรคอันตรายของหมา-แมวที่มากับความร้อน อัปเดตล่าสุด 28 มีนาคม 2566 เวลา 14:14:14 184,527 อ่าน
TOP
x close