ชาวบ้านในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช แห่ดูแมวสีขาวที่มีดวงตาแปลก 4 ตัว เจ้าของอ้างอาจเป็นแมวตาเพชร หรือแมวมงคล ด้านสัตวแพทย์ชี้ เป็นแมวตา 2 สี ที่มักพบในแมวพันธุ์ขาวมณี
วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2558) รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 รายงานข่าวชาวบ้านในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช แห่ไปดู ‘แมวตาเพชร’ 4 ตัว ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน โดยแมวทั้ง 4 ตัวนั้นเป็นของ นางนัดดา ศรีแถลง อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 69/4 หมู่ที่ 6 ต.โมคลาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
จากการสอบถาม นางนัดดา ทราบว่า แมวตัวแม่ ชื่อ ‘เจ้าขาว’ ซึ่งมีสีขาวนวลสดใสทั้งตัว ตาข้างขวามีสีทอง ข้างซ้ายเป็นตาเพชร ส่วนลูกทั้ง 3 ตัว อายุ 9 เดือน ตัวแรกเป็นแมวเพศผู้สีขาว ชื่อว่า ‘เจ้าเพชร’ ตาทั้ง 2 ข้าง เป็นตาเพชร ตัวที่ 2 เพศเมียสีขาว ชื่อว่า ‘เจ้าเงิน’ ตาข้างซ้ายมีสีทอง ข้างขวาตาเพชร ส่วนตัวที่ 3 เพศเมียสีขาว ชื่อว่า ‘เจ้าทอง’ ตาข้างซ้ายสีทอง ส่วนตาข้างขวาตาเพชร เหมือนเจ้าเงิน
ทั้งนี้ นางนัดดา ยังเผยอีกว่า ตอนแรกได้ตัวแม่มาครั้งที่ได้มาแรก ๆ สีตาก็ยังธรรมดา แต่พอเลี้ยงไป 2 อาทิตย์สีตาจึงเปลี่ยน ตนจึงเชื่อว่าเป็นแมวมงคล เพราะถูกหวยมาแล้ว 3 งวด ตนจึงรักดูแลประคบประหงมอย่างดี และพวกมันยังคงความเป็นแมวได้เป็นอย่างดีคือ จับหนูเก่ง โดย เจ้าขาว นั้นผสมพันธุ์กับแมวของเพื่อนบ้านซึ่งเป็นสีดำและตกลูก 5 ตัว เป็นสีขาว 3 ตัว และสีดำ 2 ตัว แต่สีดำทั้ง 2 ตัวตายหมด นอกจากนี้เพื่อนบ้านยังชอบเข้ามาเล่นกับพวกมันอีกด้วย
ด้านสัตวแพทย์ ประจำโรงพยาบาลสัตว์บางกอก รัชดา เผยว่า ถ้าใช้คำว่าแมวตาเพชรต้องแยกให้ออกว่าเป็นแบบไหน โดยตามลักษณะทั่วไปแล้วแมวตาเพชรจะมีตาข้างหนึ่งที่ขุ่นมัวทั้งดวงตา มีสีดวงตาที่ผิดปกติลักษณะคล้ายเพชร หรือมรกต ส่องประกายแวววาวในที่มืด และมีขนาดใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นแมวที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นที่เลนส์ตา คือแมวเป็นต้อ บางตัวอาจมีความดันในตาสูงและจะทำให้เกิดอาการเจ็บที่ดวงตา การที่แมวเป็นต้อจะทำให้แมวไม่สามารถมองเห็นและอาจเกิดอุบัติเหตุได้ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจลามไปที่บริเวณอื่นควรรีบนำตัวไปรักษา
ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือ แมวตา 2 สี หรือดวงตาคนละสี ส่วนใหญ่จะพบในแมวพันธุ์ขาวมณี ซึ่งแบบนี้จะไม่ถือว่าเป็นแมวตาเพชร เพียงแต่แมวมีม่านตาที่ลักษณะสีแตกต่างกันเท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติเพราะส่วนใหญ่แล้วจะมีสีดวงตาสีฟ้า หรือสีเหลือง ทั้ง 2 ข้าง แต่บางตัวอาจมีตาคนละสีกันซึ่งเป็นการผิดปกติของยีนที่เรียกว่า ยีนด้อย เกิดได้ตามพันธุกรรมคล้ายกับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ในมนุษย์
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร