x close

โรคจุดขาว...แขกประจำ ยามหน้าหนาวในตู้ปลา





โรคจุดขาว...แขกประจำ ยามหน้าหนาวในตู้ปลา (เทคโนโลยีชาวบ้าน)
คอลัมน์ ปลาสวยงาม โดย พิชิต ไทยยืนวงษ์

          เชื้อโปรโตซัวจุดขาวมีอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ในบ่อปลาภายในบ้าน หรืออ่างบัวเล็กๆ ก็มีเชื้อจุดขาวเช่นกัน ส่วนตู้ปลานั้นไม่ต้องพูดถึง ต่อให้ล้างทำความสะอาดอย่างไร ประเคนน้ำยาสารพัดขนาดไหน น้ำในตู้ของท่านก็ยังต้องมีเชื้อโปรโตซัวเหล่านี้รวมทั้งแบคทีเรีย เชื้อราอะไรต่อมิอะไรอีกหลายเผ่าพันธุ์แฝงตัวอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่มันจะหาเหตุก่อการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจปลาในตู้ท่านได้ก็ต่อเมื่อปลาที่เลี้ยงมีความอ่อนแอ ขาดเสถียรภาพของสุขภาพร่างกาย เรียกได้ว่าแค่ไม่กี่ชั่วโมงที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ปลาของท่านก็จะติดเชื้อประเภทต่างๆ ได้ทันที

          โรคปลามีหลายโรค แต่ช่างหัวมันก่อน เพราะในตอนนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องโรคจุดขาว ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยมากในช่วงฤดูหนาวของทุกๆ ปี

          วงจรชีวิตของโปรโตซัวชนิดนี้สั้น แต่ขยายพันธุ์เร็วมาก ด้วยวิธีการแบ่งตัวแบบทวีคูณ ในขั้นแรกเชื้อนี้จะเข้าสู่ตัวปลาที่อ่อนแอโดยอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผิวหนัง เกล็ด ครีบ และภายในเหงือกปลา แผลที่ถูกกัดจะทำให้ปลาระคายเคืองและอักเสบ เมื่ออิ่มหนำได้ที่ดีเจ้าเชื้อจุดขาวที่เริ่มอวบอ้วนก็จะทิ้งตัวลงสู่พื้น หาแหล่งกบดาน เช่น กรวด ขอนไม้ ผนังข้างตู้ หรือแม้ภายในระบบกรอง

          จากนั้นก็เริ่มกระบวนการแบ่งตัว จากเชื้อแค่ตัวเดียวมันสามารถแยกร่างออกได้เป็นพันๆ เชื้อที่เกิดใหม่แสนหิวโหยก็จะกรูขึ้นไปหาแหล่งอาหาร ซึ่งก็คือปลาเคราะห์ร้ายของเรา อิ่มแล้วก็ทิ้งตัวลง แบ่งตัวเพิ่ม แล้วขึ้นไปกินโต๊ะจีนใหม่ เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนปลาทยอยตายเกลี้ยงตู้

สังเกตอย่างไร ว่าปลาติดโรคจุดขาวแล้ว

          ดูจากพฤติกรรมปลาในตู้ หากเห็นว่าผิดไปจากเดิม เช่น ที่เคยว่ายน้ำตลอดเวลา กลับกลายเป็นซึม แอบนิ่งข้างตู้ หรือลอยคอผิวน้ำ หรือปลาที่ปกติอยู่นิ่งๆ (เช่น พวกปลาในกลุ่มแคทฟิช) กลับกลายเป็นลอกแล็ก กระวนกระวาย คอยว่ายเอาข้างเข้าถูเหมือนคนไร้เหตุผล หรือออกอาการทางจิตประสาท เช่น ว่ายวนเป็นวงกลมตลอดเวลา อย่างนี้ให้สงสัยได้เลยว่าอาจเป็นโรคจุดขาวเข้าให้แล้ว

          จากการสังเกตแบบรวมๆ จนจับได้ถึงความผิดปกติ ขั้นต่อไปก็โฟกัสไปยังปลาที่สันนิษฐานว่าป่วย มองอย่างใกล้ชิด หากเป็นโรคจุดขาวก็จะได้เห็นเม็ดสีขาวเล็กๆ คล้ายผงเกลือป่นจับติดตามครีบและผิวปลา ถ้าปลายังเป็นไม่มากอาจพบเพียงเล็กน้อย แต่ก็อย่าชะล่าใจรอให้มันเป็นมากกว่านี้แล้วค่อยรักษา โรคจุดขาวนั้นไม่ใช่โรครักษายากก็จริง แต่ถ้าปล่อยให้เป็นเยอะเปอร์เซ็นต์การรอดของปลาก็จะน้อยลง เพราะร่างกายของมันจะอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วด้วยการทวีคูณของจำนวนเชื้อโปรโตซัวบนตัวมัน

การรักษา

          ก่อนอื่นควรแยกปลาที่มีอาการมากออกจากปลาที่มีอาการน้อยหรือยังไม่แสดงอาการ นอกเสียจากว่าดูๆ แล้ว มันเป็นพอๆ กัน ก็ใช้วิธีรักษารวม

          ตู้รักษาโรคปลา ควรเป็นตู้กระจกโล่ง ไม่ต้องปูกรวด สามารถจุน้ำได้อย่างน้อย 50 ลิตร (หรือน้อยกว่านั้นก็พอไหว แต่อย่าให้เล็กเกินไปนัก) มีกรองโฟมหรือกรองฟองน้ำสักหนึ่งตัวเพื่อรักษาสภาพน้ำและเพิ่มออกซิเจน ใส่วัสดุประเภทดินเผาหรือขอนไม้เพื่อให้ปลาหลบซ่อนลดความเครียด และถ้าเป็นไปได้ การใส่ฮีเตอร์เพื่อปรับอุณหภูมิให้คงที่ ที่ 30 องศาเซลเซียส จะทำให้การรักษาโรคจุดขาวมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

          บางท่านไม่สะดวกย้ายปลา ก็อาจรักษาในตู้เลี้ยงนั้นเลยก็ได้ แต่อาจไม่ได้ผลรวดเร็วเท่า เพราะตู้เลี้ยงมักมีกรวดรองพื้น มีวัสดุตกแต่งที่จุดขาวใช้เป็นที่พักหลบซ่อนระหว่างการขยายตัว มีระบบกรองที่ดูดซับตัวยาทำให้การทำลายเชื้อของยาอ่อนลง

          ยารักษาโรคจุดขาวส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสารเคมีที่ชื่อมาลาไคต์กรีนและฟอร์มาลิน สำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามตามบ้านทั่วๆ ไปไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อสารเคมีดังกล่าวตามร้านเคมีภัณฑ์ให้วุ่นวาย แค่ร้านขายปลาก็มียาประเภทนี้ขายมากมายหลายยี่ห้อ ราคาก็ไม่แพง แถมยังใช้งานง่ายกว่า เพราะออกแบบมาสำหรับใช้กับปลาจำนวนน้อยๆ อยู่แล้ว วิธีและปริมาณการใช้ก็อ่านจากฉลากข้างขวดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ยายี่ห้อที่ได้มาตรฐานมักมีคำเตือนว่า ปลาบางชนิดแพ้สารเคมีนี้ เช่นปลาแคทฟิชทุกชนิด ปลาหมู ปลาอโรวานา ปลาเสือตอ ปลาในกลุ่มเตตร้าทุกชนิด เป็นต้น (หากไม่มีคำเตือนดังกล่าว ก็อนุมานได้ว่าเป็นยาค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐาน หรือผลิตกันเองตามบ้าน)

          หากปลาที่เลี้ยงเป็นปลาทั่วไป เช่น ปลาทอง ปลาเทวดา ปลาหมอสี ฯลฯ การใช้ยาก็สามารถใช้ได้เต็มที่ตามวิธีใช้ แต่หากต้องการจะใช้รักษาปลาชนิดที่แพ้สารมาลาไคต์กรีนก็ต้องลดปริมาณตัวยาลงครึ่งหนึ่ง การใช้ยาต้องระมัดระวังอย่าให้ถูกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเรา เนื่องจากสารเคมีนี้มีพิษ เป็นสารก่อมะเร็ง แม้กระทั่งการใช้กับปลาก็ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกินไป

          เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน โดยใช้น้ำที่ปราศจากคลอรีนและมีอุณหภูมิเท่ากับน้ำในตู้ การเปลี่ยนถ่ายน้ำนอกจากจะช่วยกำจัดตัวอ่อนของเชื้อจุดขาวไปบางส่วนแล้ว ยังช่วยให้ปลาสดชื่นจากน้ำใหม่ๆ อีกด้วย ไม่ควรเปลี่ยนน้ำมากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และหลังจากเปลี่ยนน้ำก็ใส่ยาเพิ่มลงไปเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณยาเพื่อให้ความเข้มข้นคงเดิม

          การใช้ฮีตเตอร์ ควรปรับอุณหภูมิของฮีเตอร์ไว้ที่ 30 องศาเซลเซียส และเทียบอุณหภูมิของน้ำด้วยเทอร์โมมิเตอร์อีกตัวหนึ่ง เนื่องจากฮีเตอร์ที่มีขายตามท้องตลาดส่วนมากไม่ค่อยตรง เช่น ตั้งไว้ที่ 30 องศาเซลเซียส แต่ความเป็นจริงอาจสูงเกินไปที่ 32 องศาเซลเซียส จุดขาวมีการเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ได้ดีในน้ำอุณหภูมิต่ำ การปรับให้อุณหภูมิน้ำคงที่อยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส จะทำให้เชื้อจุดขาวในระยะตัวอ่อนอ่อนแอและมีอายุสั้นลง ยาจะใช้ได้ผลดีมากในช่วงเวลานี้

          ปลาที่โดนเชื้อจุดขาวเล่นงานมักมีอาการอักเสบต่อเนื่องด้วยการติดเชื้อจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ดังนั้น อาจใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการดังกล่าว ยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาปลาสวยงามก็มีขายตามร้านปลาสวยงามอีกนั่นแหละ แต่ก็สามารถใช้ยาคนได้เช่นกัน เช่น แอมม็อคซี่ซิลิน เตตร้าซัยคลิน ออกซี่เตตร้าซัยคลิน อัตราส่วนการใช้คือ 25 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร เมื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำในแต่ละครั้งก็ใส่ยาปฏิชีวนะเพิ่มตามปริมาณน้ำที่เติมเข้าไปใหม่เช่นกัน

          ในช่วงอากาศหนาวเย็นปลาจะอ่อนแอกว่าปกติ ควรลดปริมาณอาหารลงและหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำทำความสะอาดตู้ให้บ่อยขึ้น ระวังอุณหภูมิของน้ำที่นำมาเปลี่ยนถ่าย หากต่างกับน้ำเดิมมากเกินไปก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ปลาเป็นโรคจุดขาวง่ายขึ้น สำหรับปลาที่เริ่มมีอาการซึม เบื่ออาหาร ครีบหางลู่ตก ให้รีบแยกออกมาทันทีเพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป การนำปลาจากแหล่งอื่นมาใส่รวมกับปลาเดิมในตู้ก็ต้องระมัดระวัง ต้องมั่นใจว่าปลานั้นสุขภาพแข็งแรงดี ไม่อยู่ในตู้ที่มีสภาพน้ำแย่มาก่อน จะให้แน่ใจควรแยกเลี้ยงปลานั้นต่างหากไว้ก่อนสัก 1 สัปดาห์ หากไม่มีอาการใดผิดปกติ จึงค่อยนำมาเลี้ยงรวม




ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคจุดขาว...แขกประจำ ยามหน้าหนาวในตู้ปลา อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2552 เวลา 19:17:28 45,717 อ่าน
TOP