เผยขั้นตอนการผ่าตัดแมวที่เจ้าของเหมียวควรรู้




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก catster.com

           ถึงแม้ว่าแมวจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความยืดหยุ่นสูง ฉลาดปราดเปรียว คล่องแคล่ว จนได้รับฉายาว่า แมว 9 ชีวิตแต่ในความเป็นจริงบางเวลาพวกมันอาจพลั้งเผลอตกเป็นเหยื่อของสัตว์ใหญ่ หรือเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งบาดแผลที่ได้รับนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากไม่ร้ายแรงมากนักอาจจะแค่ใส่ยา แต่ถ้าอาการหนักคงจะต้องส่งไปโรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัด โดยขั้นตอนนี้หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าสัตวแพทย์ทำอย่างไร ปลอดภัยกับแมวหรือเปล่า แล้วเราจะช่วยเหลือแมวได้ไหม ไม่ต้องกังวลไปเพราะเรามีคำตอบสิ่งที่เจ้าของอยากรู้จากเว็บไซต์ catster.com มาฝากกัน





1. ให้ยาระงับประสาท

           เริ่มแรกสัตวแพทย์ให้ยาระงับประสาทกับแมวเสียก่อน เพื่อทำให้แมวรู้สึกผ่อนคลายไม่เกร็งจนเกินไป และเตรียมตัวก่อนถึงขั้นตอนการผ่าตัด ซึ่งปริมาณมากน้อยของยาสลบที่ให้นั้น ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของแมวแต่ละตัว





2. สอดปลายเข็มสำหรับให้ยา

           ในช่วงที่แมวกำลังสะลึมสะลืออยู่ สัตวแพทย์ก็จะทำการโกนขนออกเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่จะใช้บริเวณขาหน้าของแมว เพื่อทำการสอดหัวเข็มเข้าไปที่เส้นเลือดดำสำหรับการให้ยา น้ำเกลือ หรือของเหลวชนิดอื่นที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษา







3. ให้ยาสลบ

           หลังจากที่ฝังหัวเข็มเสร็จแล้ว สัตวแพทย์จะทำการฉีดยาสลบเข้าไปผ่านหัวเข็มอันเดียวกัน เพื่อทำให้แมวหลับสนิท และไม่รู้สึกเจ็บปวดในระหว่างที่ได้รับการผ่าตัด ซึ่งการให้ยาสลเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ เพราะตัวยามีผลกระทบต่อระบบการหายใจของแมว ซึ่งมีผลทำให้ระดับความดันเลือดลดลง ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยการสอดท่อเล็ก ๆ เข้าไปในลำคอของแมว เพื่อทำให้แมวหายใจได้เป็นปกติ





4. ติดเครื่องมือผ่าตัด

           นอกจากสอดท่อช่วยหายใจแล้ว สัตวแพทย์มีความจำเป็นที่จะต้องติดเครื่องมือเกี่ยวกับการผ่าตัดที่ลำตัวขา และหน้าอกของแมวด้วย ซึ่งได้แก่ สายวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ปริมาณออกซิเจนในเลือด ความดันเลือด เป็นต้น  





5. โกนขนและฆ่าเชื้อโรค

           เมื่อติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณืที่เกี่ยวกับการผ่าตัดเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการโกนขนบริเวณที่ต้องการผ่าตัดออก เพื่อทำเครื่องหมายจุดที่จะรักษาและเช็ดทำความสะอาดผิวหนังด้วยยาที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านและฆ่าเชื้อโรค





6. ผ่าตัด

           ระยะเวลามนการผ่าตัดขึ้นอยู่กับบาดแผลที่ได้รับอาจจะกินเวลานานเป็นชั่วโมงหรือแค่เพียง 5 นาทีเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะมากหรือน้อยสัตวแพทย์จำเป็นต้องคอยเช็กข้อมูลจากหน้าจอของมอนิเตอร์ที่ติดตั้งเอาไว้ทุก ๆ 1 - 2 นาทีและจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงเอาไว้ เพื่อสังเกตอาการและปฏิกิริยาของแมว จนกระทั่งเสร็จสิ้นการผ่าตัด


7. ปิดแผลผ่าตัด

           หลังจากการผ่าตัดสัตวแพทย์ก็จะทำการปิดแผลด้วยการเย็บผิวหนังชั้นนอกเข้าด้วยกัน และรอให้ระบบในร่างกายค่อย ๆ รักษาตัวเองจากผิวหนังชั้นในจนกระทั่งแผลปิดสนิท และรอจนหายเป็นปกติ ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลาสักนิด ดังนั้นเจ้าของควรระมัดระวังในการเล่นกับแมวด้วย






8. ถอดเครื่องช่วยหายใจ

           เมื่อการปิดแผลเสร็จสิ้นลงสัตวแพทย์ก็จะปลุกแมวให้ตื่นขึ้นมา เพื่อทำการถอดสายช่วยหายใจออกมาจากลำคอ




9. ระยะพักฟื้น

           เนื่องจากยาสลบอาจจะยังมีฤทธิ์อยู่ทำให้แมวไม่สามารถตื่นขึ้นมาได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นในระหว่างนี้ควรห่อตัวแมวด้วยผ้าหนา ๆ เพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกายของแมว และรอจนกระทั่งแมวฟื้นตัวเป็นปกติ ถึงจะพากลับบ้านได้

           หลังจากพาแมวกลับบ้านได้แล้วควรดูแลอย่างใกล้ชิด โดยไม่ควรให้แมวเคลื่อนไหวตัวมาก เพราะอาจทำให้ปากแผลเปิด หรือไหมหลุด พร้อมกับระมัดระวังไม่ให้แมวเผลอเลียแผลบ่อย ๆ เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อได้ หากเป็นไปได้ควรให้แมวสวมปลอกคอกันเลียไปก่อน นอกจากนี้เจ้าของควรหมั่นสังเกตและทำความอาดแผลเป็นประจำด้วยนะคะ






 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยขั้นตอนการผ่าตัดแมวที่เจ้าของเหมียวควรรู้ อัปเดตล่าสุด 15 มีนาคม 2556 เวลา 16:06:38 20,317 อ่าน
TOP
x close