x close

เรื่องน่ารู้! คุณสมบัติและขั้นตอนในการพาสุนัขไปบริจาคเลือด





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          สำหรับการรักษาสุนัขที่เข้ารับการผ่าตัด หรือเกิดอุบัติเหตุ การใช้ยาเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ โดยเฉพาะในกรณีที่สุนัขสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมาก เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้คนที่เป็นเจ้าของคนทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากคอยให้กำลังใจ และรอเลือดจากสุนัขตัวอื่นที่นำมาบริจาค ซึ่งถ้าหากเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นกับสุนัขของเรา คงเสียใจไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้ากับสุนัขตัวอื่น ๆ คุณควรจะพาสุนัขไปบริจาคเลือด เก็บเอาไว้เป็นเลือดสำรองกันดีกว่า

          ทั้งนี้ คุณสมบัติของสุนัขที่บริจาคเลือดได้นั้น จะต้องมีสุขภาพจิตที่สดใสและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง กล่าวคือ เป็นสุนัขที่มีนิสัยสดชื่น ร่าเริง แจ่มใส ไม่อยู่ในภาวะเครียดวิตกหรือกังวล นอกจากนี้ยังมีร่างกายที่สมบูรณ์พร้อมทั้งภายในและภายนอก ไม่เป็นโรคประจำหรือโรคติดต่อ หากเป็นสุนัขเพศเมียควรบริจาคหลังผ่านช่วงประจำเดือนไปแล้ว นอกจากนี้ควรเป็นสุนัขที่ได้รับการฉีควัคซีนครบถ้วน ไม่เคยเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ในระยะ 1 - 2 เดือนที่ผ่านมา และเป็นสุนัขที่มีอายุระหว่าง 1 - 8 ปี


          ก่อนที่สุนัขของคุณจะบริจาคเลือดได้นั้น จะต้องผ่านการตรวจเช็กความแข็งแรงของร่างกายเสียก่อน หากพบว่าไม่มีปัญหาสุขภาพใด ๆ ก็สามารถเข้ารับบริจาคเลือดได้ ทั้งนี้ก่อนถึงวันบริจาคเลือดควรงดให้อาหารและน้ำกับสุนัข เพื่อความปลอดภัยในการในการให้ยาซึม ซึ่งในระหว่างที่สุนัขของคุณกำลังบริจาคเลือดควรให้กำลังใจด้วยการกอดและคอยพูดคุยกับสุนัข ทั้งนี้เพื่อดึงดูดความสนใจ และลดอาการตื่นกลัว ประหม่า ในระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล และในช่วงที่อยู่กับสัตวแพทย์

          หลังจากการบริจาคเลือดสุนัขอาจมีอาการอ่อนเพลีย เซื่องซึมไปบ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แค่ให้สุนัขพักผ่อนและทานยาบำรุงเลือดก็เพียงพอแล้ว หากคุณต้องการจะพาสุนัขไปบริจาคเลือดอีกก็สามารถทำได้ แต่ควรเว้นระยะเอาไว้ประมาณ 5 - 7 สัปดาห์ ก่อนทำการนัดหมายสำหรับการบริจาคเลือดครั้งต่อไป
 
          ซึ่งประโยชน์ที่สุนัขจะได้รับจากการบริจาคเลือดไม่ใช่แค่เพียงการช่วยเหลือชีวิตของสุนัขตัวอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมสร้างสุขภาพของสุนัขที่บริจาคเลือดด้วย เพราะหลังจากที่ถ่ายเลือดเก่าออกไปร่างกายสุนัขจะผลิตเซลล์เม็ดเลือดใหม่ขึ้นมา อีกทั้งยังสามารถตรวจเช็กความผิดปกติ จากผลการบริจาคเลือด ถ้าหากมีความผิดปกติกับสุนัข สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะจะลุกลามกลายเป็นโรคเรื้อรัง

          ทั้งนี้ เลือดที่สุนัขบริจาคมีอายุแค่เพียง 30 - 35 วันเท่านั้น ทำให้จำนวนของเลือดสุนัขที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ยังไงก็อย่าลืมพาสุนัขของคุณไปบริจาคเลือดกันเยอะ ๆ นะคะ



 







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้! คุณสมบัติและขั้นตอนในการพาสุนัขไปบริจาคเลือด อัปเดตล่าสุด 27 ธันวาคม 2555 เวลา 10:36:18 2,233 อ่าน
TOP