เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบปลากัดป่ามหาชัย ปลากัดสายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร จี้ เร่งขยายพันธุ์ เพราะใกล้สูญพันธุ์แล้ว
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ศ.ศกรณ์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, รศ.ภิญโญ พานิชพันธ์ และคณะผู้วิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวการค้นพบปลากัดป่ามหาชัย (Betta Mahachaiensis) โดยระบุว่า เป็นปลากัดสายพันธุ์ใหม่ของโลก มีอายุกว่า 4 ล้านปี ค้นพบเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว จากนั้นนำมาวิจัย คัดแยกดีเอ็นเอ แล้วตีพิมพ์ลงนิตยสารวิชาการ จนนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยอมรับในที่สุดว่า เป็นปลากัดสายพันธุ์บริสุทธิ์
ทั้งนี้ ลักษณะโดยทั่วไปของ ปลากัดป่ามหาชัย เป็นสีเขียวอมฟ้า และสีเขียว ไม่มีสีแดงปนแต่อย่างใด ขณะที่เกล็ดรอบตัวมีความวาววับ แก้มมีขีดสีเขียวอมฟ้า 2 ขีด วิธีขยายพันธุ์คือการก่อหวอดในตะโพกจาก (ง่ามที่อยู่ระหว่างลำต้นกับใบ) สำหรับที่อาศัยของปลากัดป่ามหาชัย อยู่ในน้ำกร่อย เขตมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแห่งเดียวในโลก คาดว่ามีประมาณหลักหมื่นตัว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตมหาชัย ทำให้ปลาชนิดนี้ใกล้สูญพันธุ์แล้ว เหตุจากการปล่อยน้ำเสียลงน้ำ หรือปัญหาป่าต้นน้ำเริ่มน้อยลง ดังนั้น ทางกลุ่มวิจัยมองว่า ปลาชนิดนี้ควรเร่งอนุรักษ์และขยายพันธุ์ เพราะเป็นปลาที่สวยงามของไทย มีหนึ่งเดียวในโลก แล้วสามารถสร้างรายได้การส่งออกไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ตกเฉลี่ยราคาตัวละ 500 บาท
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก