x close

เล็งเปลี่ยน พิษสุนัขบ้า เป็น เรบีส์ ชี้ไม่ได้มีแค่สุนัขที่ติดเชื้อ





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส

            เตรียมเปลี่ยนชื่อ พิษสุนัขบ้า เป็น เรบีส์ ชี้ ไม่ได้มีแค่สุนัขที่ติดเชื้อ แต่รวมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ด้านหน่วยแพทย์เดินสายตรวจสอบฟาร์ม และเตรียมนำวัคซีนฉีดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ป้องกันการแพร่ระบาด และการติดเชื้อ

            วานนี้ (6 สิงหาคม) พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงโรคพิษสุนัขบ้าที่แพร่เชื้อไปยังกระต่าย สืบเนื่องจากเจ้าของกระต่ายได้แจ้งว่า กระต่ายของเขามีลักษณะคล้ายสุนัขบ้า มีอาการดุร้าย ไล่กัดคนในบ้าน และกัดหนูตาย ก่อนที่จะชักกระตุก ทรงตัวไม่ได้ และเสียชีวิตในวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และวันต่อมากระต่ายเพศเมียที่เลี้ยงด้วยกันนั้นก็เสียชีวิตเช่นกัน

            ทั้งนี้ พญ.มาลินี กล่าวว่า ขณะนี้ทางการแพทย์ยังสงสัยอยู่ว่าเชื้อที่กระต่ายติดมานั้น มาจากหนูหรือไม่ เพราะทางสภากาชาดไทยเคยตรวจพบว่าหนู 100 ตัว จะมีหนูที่ติดเชื้อประมาณ 2-3 ตัว และพบว่า กระต่าย 1 ใน 2 ตัวที่เสียชีวิตนั้นมีบาดแผลที่จมูก ซึ่งอาจจะทำให้เชื้อแพร่ไปยังกระต่ายอีกตัวก็เป็นได้ ส่วนในเรื่องนี้ทางการแพทย์ยังไม่มีข้อสรุป แต่ในเบื้องต้นได้ให้เซรุ่ม "อิมมูโนโกลบูลิน" ให้กับผู้ที่ถูกกัดและสัมผัสโรค จำนวน 5 ราย เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคแล้ว
 
            พร้อมกันนี้ พญ.มาลินี ยังกล่าวต่อว่า ต่อจากนี้ทางการแพทย์จะดำเนินการป้องกันอย่างเต็มที่ โดยจะลงพื้นที่ตรวจสอบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ สุนัข แมว กระต่าย กระรอก กระแต และคน ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากจุดแพร่เชื้อ พร้อมกับนำวัคซีนไปฉีดป้องกันให้ด้วย นอกจากนี้จะระดมพื้นที่ตรวจสอบสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในฟาร์ม และแหล่งค้าขาย ว่ามีวิธีเลี้ยงและดูแลป้องกันอย่างถูกต้องหรือไม่

            ส่วนอาการเบื้องต้นสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อนั้น พญ.มาลินี ระบุว่า อาการดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.แสดงอาการดุร้าย 2.เงียบขรึม ซึ่งผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลอาการสัตว์เลี้ยงว่าพฤติกรรมหรือแสดงอาการผิดปกติหรือไม่

            อย่างไรก็ตาม พญ.มาลินี ได้กล่าวเกี่ยวกับโรคนี้ว่า ตอนนี้ที่ประชุมได้มีความเห็นให้เสนอเปลี่ยนชื่อจาก "โรคพิษสุนัขบ้า" เป็นโรค "เรบีส์" เนื่องจากโรคดังกล่าว ไม่ได้พบเพียงแค่สุนัขอย่างเดียว แต่พบในสัตว์เลี้่ยงลูกด้วยนมทุกชนิด แต่ทั้งนี้ ประเทศไทยนิยมเลี้ยงสุนัขมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น จึงได้ตั้งชื่อโรคว่าพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมแก้ไขกฎกระทรวงเพิ่มเติมให้ครอบคลุมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เพราะที่ผ่านมาควบคุมเพียงแค่สุนัขเท่านั้น

           นอกจากนี้ ล่าสุด (7 สิงหาคม) นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงเช้าว่า ขณะนี้ทางคณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษษจากสัตว์ พ.ศ.... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา  โดยให้ตัดความในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานกำกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ออก และจะจัดตั้งสำนักงานกำกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว

            สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่...

               1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2525 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ร่างมาตรา 3)

            2. กำหนดบทนิยามเพิ่มเติมอาทิเช่น เชื้อจุลินทรีย์ สารชีวภาพ เป็นต้น (ร่างมาตรา 4)

            3. กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยและอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณชน (ร่างมาตรา 6)

            4. กำหนดให้มีคณะกรรมการเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ผู้แทนนักวิชาการด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ผู้แทนผู้รับอนุญาตหรือจดแจ้ง และผู้ทรงคุณวุฒิ กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง องค์ประชุม และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 7 ถึงร่างมาตรา 13)

            5. กำหนดให้จัดตั้ง "สำนักงานกำกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์" ขึ้นในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 14 และร่างมาตรา 15)

            6. กำหนดกระบวนการการขออนุญาตและการจดแจ้งซึ่งการผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย นำผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ การออกใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง ประเภทของใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง การแก้ไขรายการในใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง อายุและการต่ออายุใบอนุญาตและใบรับจดแจ้ง และการขอรับใบแทนใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง (ร่างมาตรา 16 ถึงร่างมาตรา 25)

            7. กำหนดให้ผู้รับอนุญาต ผู้จดแจ้ง ผู้ดำเนินการ และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ มีหน้าที่ตามที่กำหนด (มาตรา 26 ถึงร่างมาตรา 32)

            8. กำหนดให้ผู้อนุญาตมีอำนาจในการควบคุมเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 33 ถึงร่างมาตรา 40)

            9. กำหนดกระบวนการเลิกกิจการและการโอนกิจการที่เกี่ยวกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ (ร่างมาตรา 41 ถึงร่างมาตรา 45)

            10. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง การสั่งยกเลิกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง และการที่ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้งจะขายเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ (ร่างมาตรา 46 ถึงร่างมาตรา 50)

            11. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีระดับการใช้อำนาจตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 51 ถึงร่างมาตรา 58)

            12. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอุทธรณ์การไม่ออกใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง การไม่ต่ออายุใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง และการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง (ร่างมาตรา 59 ถึงร่างมาตรา 61)

            13. กำหนดความรับผิดทางแพ่ง และบทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 62 ถึงร่างมาตรา 64 และหมวด 11 ร่างมาตรา 65 ถึงร่างมาตรา 91)

            14. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับคณะกรรมการ ใบอนุญาต คำขออนุญาต ตลอดจนบรรดากฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2525 (ร่างมาตรา 92 ถึงร่างมาตรา 95)





 
คลิป เสนอเปลี่ยนชื่อโรคพิษสุนัขบ้า : เครดิต รายการเรื่องเล่าเช้านี้ โพสต์โดย คุณ DuangAesthetic



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เล็งเปลี่ยน พิษสุนัขบ้า เป็น เรบีส์ ชี้ไม่ได้มีแค่สุนัขที่ติดเชื้อ อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2555 เวลา 14:24:21
TOP