x close

โรคเบาหวาน... คุกคามหมา-แมว ไม่ต่างจากคน




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ไม่เพียงแต่ผู้เป็นเจ้านายเท่านั้นที่อาจจะป่วยด้วยโรคยอดฮิตอย่าง "เบาหวาน" แต่น้องหมาน้องเหมียวทั้งหลายก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแม้ว่าจะยังขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์และหยูกยาต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยสี่ขา แต่ก็ยังโชคดีว่าอุปกรณ์การรักษาเบาหวานในสัตว์เลี้ยง(บางอย่าง)สามารถหยิบยืมเครื่องมือของคนมาใช้ด้วยกันได้ ทำให้อัตราการตายด้วยโรคดังกล่าวลดลงสวนทางกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

          ทั้งนี้ จากผลการสำรวจ พบว่า สุนัขเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจาก 19% เป็น 67% ขณะที่อัตราการตายจากโรคเบาหวาน ก็ลดลงอย่างรวดเร็วจาก 37% เหลือเพียง 5% เท่านั้น โดยสุนัขพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากที่สุด ได้แก่ พันธุ์มิเนเจอร์ พูเดิ้ล, อลาสก้า มาลามิวท์, บิชอนไฟรส์ และมิเนเจอร์ ชเนาเซอร์

          ส่วนโรคเบาหวานในแมวนั้น พบว่ามีลักษณะคล้ายกับคน โดยจะแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ประเภทแรก คือ กรณีที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ ประเภทที่สอง คือ กรณีที่ร่างกายสามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ แต่เซลล์ในร่างกายไม่สามารถรับได้ ซึ่งแมวสามารถเป็นโรคเบาหวานได้ทั้งสองประเภทนี้เหมือนกับมนุษย์

          สำหรับการรักษาโรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยงนั้น ก่อนหน้านี้มีการนำยาของมนุษย์มาใช้กับสัตว์เลี้ยงแล้วได้ผล มาวันนี้ สัตวแพทย์จึงได้นำอุปกรณ์การรักษาโรคเบาหวานของมนุษย์มาใช้กับสัตว์เลี้ยงด้วย นั่นก็คือ เครื่องติดตามตรวจวัดระดับน้ำตาล ซึ่งจะช่วยวัดระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงขึ้นหรือไม่ เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และมีปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ แม้ว่าการควบคุมอาหารและการฉีดอินซูลินจะช่วยได้ แต่ระดับน้ำตาลในเลือดก็ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เจ้าหมาน้อยก็เช่นกัน พวกมันก็ต้องการการติดตามระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้สัตวแพทย์นำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้กับเจ้าตูบและเจ้าเหมียวน้อยนั่นเอง

          แต่ก่อนที่สัตวแพทย์จะรักษาเจ้าตูบหรือเจ้าเหมียวที่เป็นโรคเบาหวานได้นั้น ต้องพาเจ้าตูบมาทำการตรวจเลือดตามกำหนดที่คลินิกและใช้ข้อมูลหาค่าฮอร์โมนอินซูลิน เพื่อที่จะสามารถจ่ายยาได้ แต่อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของคลินิกนั้นอาจทำให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกเครียด ซึ่งความเครียดนี้จะมีผลต่อการวัดค่าฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้ผลที่ออกมามักจะไม่ค่อยตรงตามความเป็นจริงสักเท่าใดนัก

          ทว่าในปัจจุบัน สัตวแพทย์ได้ใช้เครื่องติดตามตรวจวัดระดับน้ำตาลในเวลาจริง ซึ่งมีประสิทธิภาพและแม่นยำกว่าวิธีเก่ามาก มันสามารถแสดงให้เราเห็นระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์เลี้ยงได้ตามเวลาจริง หรือเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดที่มีผลมาจากวิธีการที่เจ้าของเลี้ยงดู หรือ เมื่อสัตว์เลี้ยงออกกำลังกาย จึงสามารถรักษาได้ตามความแม่นยำ และทำให้เจ้าของได้รู้ว่าการใช้ยา การให้อาหาร และการให้สัตว์เลี้ยงออกกำลังกายนั้น มีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของระดับฮอร์โมนอินซูลินด้วย ดังนั้น การเลี้ยงดูที่ดีก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นโรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคเบาหวาน... คุกคามหมา-แมว ไม่ต่างจากคน โพสต์เมื่อ 22 มิถุนายน 2554 เวลา 10:41:43 1,416 อ่าน
TOP