x close

วิธีเพาะปลาทอง...มือใหม่ก็ทำได้





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เชื่อว่าคนที่เคยเลี้ยงปลาทองจำนวนไม่น้อย คงเคยคิดอยากให้ปลาตัวโปรดของคุณออกลูกออกหลานมาให้ชื่นชมกันบ้างใช่ไหมล่ะคะ แต่ไม่ว่าจะหาคู่ หรือพยายามจับคู่ให้เจ้าปลาทองสักกี่ครั้ง ก็ยังไม่เห็นเจ้าลูกตัวน้อย ๆ ของมันสักที...เฮ้อ!!!!

          อ่ะ อ่ะ...อย่าเพิ่งท้อ ถึงจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ถ้ามือใหม่จะหัดเพาะปลาทองกับเขาดูบ้าง ซึ่งหากได้เรียนรู้ วิธีเพาะปลาทอง อย่างถูกต้อง นอกจากจะได้ลูกปลาทองตัวน้อย ๆ ไว้ดูเล่นแล้ว ผลิตผลจาก การเพาะพันธุ์ปลาทอง ยังสามารถนำออกขายเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย ว่าแต่ วิธีเพาะปลาทอง มีขั้นตอนอย่างไร และ วิธีเพาะปลาทอง ผู้เลี้ยงจะต้องเตรียมใจกับเรื่องอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยยย

          ก่อนที่จะไปเรียนรู้ วิธีเพาะปลาทอง ผู้เลี้ยงควรสำรวจก่อนว่า มีพื้นที่และอุปกรณ์ในการเลี้ยงเพียงพอหรือไม่ เพราะในการรีดไข่ปลาแต่ละครั้งนั้น จะได้ลูกปลาไม่ต่ำกว่า 2,000-4,000 ตัว ขณะเดียวกัน การอนุบาลลูกปลาทอง ก็จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่อย่างละเอียดทุกขั้นตอน เพราะนั่นมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกปลา รวมถึงเวลาในการดูแลที่ต้องมีเวลาในให้อาหารสม่ำเสมอและเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สะอาดอยู่ตลอดเวลาด้วย

หลักการสำคัญ การเพาะปลาทอง

          ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แนะนำให้ใช้ตัวผู้ 2 ตัว ต่อตัวเมีย 1 ตัว เนื่องจากน้ำเชื้อตัวผู้เพียงตัวเดียวจะไม่เพียงพอกับไข่ปลาตัวเมียที่สมบูรณ์เพียงตัวเดียว

         การเพาะปลาทอง ควรใช้ปลาทองพันธุ์เดียวกันเป็นพ่อแม่พันธุ์ แม้ว่าปลาทองทุก ๆ พันธุ์จะสามารถผสมกันได้ แต่ก็จะได้ลูกปลาที่มีลักษณะแปลก ๆ ไม่สวยงามตามที่นักเลี้ยงปลานิยม แต่หากท่านอยากจะทดลองเพาะดูเพื่อศึกษาเองก็ไม่ผิดกติกาอันใด

          ควรจัดภาชนะที่ใช้เพาะปลาโดยเฉพาะ ซึ่งมีเนื้อที่อย่างน้อย 1 ตารางเมตร และลึก 20 เซนติเมตร บ่อเพาะควรล้าง และทำความสะอาดอย่างดี ไม่มีศัตรูของปลา เช่น ปลาเล็ก ๆ หรือหอย ฯลฯ

          ไข่ปลาทอง เป็นไข่ ประเภทไข่ติด ดังนั้น การเพาะพันธุ์ ควรใช้สาหร่าย หรือเชือกฟางพลาสติกเป็นวัสดุที่ให้ไข่เกาะ

          เวลาที่เหมาะสมในการปล่อยปลาลงบ่อเพาะควรเป็นเวลาเย็น เพื่อให้ปลาผสมพันธุ์วางไข่ในเช้ารุ่งขึ้น

          ไม่ต้องให้อาหารปลาในขณะเพาะพันธุ์ แต่ควรให้ออกซิเจนหรือปั๊มอากาศในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าจะมีออกซิเจนในน้ำเพียงพอ

          หลังจากที่ปลาวางไข่แล้วให้ย้ายพ่อแม่ปลาออก แล้วย้ายไข่ไปฟักในภาชนะที่มีน้ำคุณภาพดี ส่วนน้ำในบ่อเพาะควรเปลี่ยน และเปิดออกซิเจนให้แรงให้ออกซิเจนเพียงพอ เพราะยังมีไข่ผสมแล้ว ร่วงอยู่ที่พื้นจำนวนมาก

          ไข่ปลาทองมีสีเหลืองโปร่งแสง เวลาฟักเป็นตัวเวลา 2 วัน ในอุณหภูมิ 25-28 องศาเซลเซียส ลูกปลาวัยอ่อนจะใช้อาหารจากถุงไข่แดงที่ติดตัวประมาณ 3-4 วัน หลังจากนั้น จะเริ่ม กินอาหารขนาดเล็ก ๆ เช่น ไรน้ำ

          ลูกปลาจะออกช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำด้วย ถ้าอุณหภูมิของน้ำค่อนข้างเย็น ลูกปลาจะออกช้าซึ่งเป็นผลดี เพราะการที่ลูกปลาอยู่ในไข่นานจะทำให้การพัฒนาเป็นตัวมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

          ลูกปลาที่ได้รับการดูแลอย่างดี จะมีขนาด 1-2 นิ้ว ในเวลา 2 เดือน


วิธีเพาะปลาทอง มี 2 แบบ คือ

          1. วิธีเพาะปลาทอง แบบธรรมชาติ  เป็นวิธีการเพาะพันธุ์ปลาทองแบบง่ายและประหยัด คือการปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ผ่านการคัดเลือกไว้ ให้ผสมพันธุ์กันเอง โดยตัวผู้จะไล่ตอดตัวเมียเพื่อให้ไข่หลุดออกมาจากท้องตัวเมีย หลังจากนั้นจะทำการฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมไข่ที่หลุดออกมา ในบ่อผสมพันธุ์ควรจะมีพันธุ์ไม้น้ำ เช่น สาหร่ายหรืออาจจะใช้เชือกฟางฉีกเป็นฝอยเพื่อให้ไข่ปลาเกาะติด เพื่อป้องกันการกินไข่ของพ่อแม่ปลาทองนั่นเอง ส่วนระยะเวลาในการผสมพันธุ์ อาจใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง ปลาจึงวางไข่หมด โดยปริมาณไข่จะขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลา

          2. วิธีเพาะปลาทอง แบบผสมทียม เป็นวิธีที่จะทำให้ได้อัตราการฟักไข่สูงกว่าการเพาะพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ แต่ขั้นตอนจะยุ่งยากกว่า หลังจากที่เตรียมอ่างเพาะหรือบ่อเพาะปลาแล้ว ให้ตรวจความพร้อมของแม่ปลา ซึ่งหากแม่ปลาพร้อมวางไข่ ท้องจะป่อง ๆ นิ่ม ๆ จากนั้นก็ทำการรีดไข่ โดยให้เตรียมกะละมังขาวใส่น้ำสะอาด (ปราศจากคลอรีน) นำแม่พันธุ์มาอยู่ในกะละมัง พยายามจับเบา ๆ อย่าให้แม่ปลาทองตกใจ จากนั้นให้นำพ่อปลาทองมาใส่รวมกัน เมื่อแม่ปลาหายตื่นตกใจให้เริ่มทำการรีดไข่ปลา

          ทั้งนี้ ขั้นตอนการรีดไข่ ปลาทอง ต้องทำอย่างรวดเร็วและนุ่มนวล เพราะปลาอาจบอบช้ำถึงตายได้ เมื่อรีดไข่ปลาเสร็จแล้วให้รีบคลุกเคล้าไข่กับน้ำเชื้อให้เข้ากัน เพื่อให้น้ำเชื้อของปลาตัวผู้ไปผสมกับไข่ของปลาตัวเมียได้อย่างทั่วถึง จากนั้นล้างไข่ด้วยน้ำสะอาด 1-2 ครั้ง เมื่อไข่ถูกน้ำจะดูดซึมน้ำเข้าไปในเซลล์และมีสารเหนียว ๆ ทำให้ไข่ติดกับกาละมัง โดยไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อจะมีลักษณะใสวาว ๆ สีเหลือง ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะมีสีขาวขุ่น


วิธีสังเกตปลาที่พร้อมผสมพันธุ์

ปลาตัวเมีย

          1. ท้องจะกางออกมากกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด และมีสีเข้มมากกว่าปกติ

          2. เมื่อเวลาเอามือลูบที่ท้องจะรู้สึกนิ่มกว่าปกติ และมักมีเมือกปกคลุม

          3. บริเวณรอบรูทวารของปลาตัวเมียจะมีสีชมพูเรื่อๆ โดยรอบ และเมื่อใช้มือรีดเบาๆ จะมีไข่ปลาทะลักออกมา

ปลาตัวผู้

          1. ปลาจะรู้สึกคึกคักและกระปรี้กระเปร่าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะถ้าภายในบ่อเลี้ยงมีปลาตัวเมียอยู่ด้วย

          2. บริเวณเหงือกจะมีเม็ดตุ่มเล็ก ๆ เมื่อใช้มือลูบจะรู้สึกสาก

          3. บริเวณครีบอกจะมีตุ่มสีขาวปรากฏให้เห็น

          4. เมื่อใช้มือรีดที่ท้องปลาเบา ๆ ปลาที่พร้อมจะผสมพันธุ์จะมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมา



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, rachaplathong.com




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเพาะปลาทอง...มือใหม่ก็ทำได้ อัปเดตล่าสุด 10 พฤษภาคม 2553 เวลา 15:15:32 117,624 อ่าน
TOP