กรมอุทยานฯ เตรียมส่ง ลิงอุรังอุตัง จำนวน 14 ตัว คืนอินโดนีเซีย ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ พร้อมยกเว้นค่าเลี้ยงดู 3 ล้านบาท หลังพบลิงอุรังอุตังถูกทิ้งข้างถนนที่ภูเก็ตเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
วันที่ 25 สิงหาคม 2558 นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ไทยเตรียมส่งลิงอุรังอุตังจำนวน 14 ตัว คืนอินโดนีเซีย ในวันที่ 7 กันยายนนี้ หลังจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว กรมอุทยานฯ ได้รับเลี้ยงลิงอุรังอุตังตัวเต็มวัยจำนวน 13 ตัว ที่ถูกใส่กรงนำมาทิ้งไว้ริมถนนทางหลวง จ.ภูเก็ต ซึ่งภายหลังตรวจสอบพบว่าพวกมันถูกสวนสัตว์เอกชนแห่งหนึ่งลักลอบเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย แต่ขณะนั้นรัฐบาลของอินโดนีเซียไม่ประสงค์จะรับลิงกลับ ทางกรมอุทยานฯ จึงรับเลี้ยงไว้
จนเมื่อไม่นานมานี้ทางรัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำหนังสือมายังกรมอุทยานฯ ว่าจะขอรับลิงทั้งหมดกลับประเทศ แต่ตามกฎของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าพืชและสัตว์ซึ่งชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) กำหนดไว้ว่า ลิงอุรังอุตังเป็นสัตว์ในบัญชี 1 ซึ่งประเทศที่รับเลี้ยงสัตว์เหล่านี้เอาไว้สามารถเรียกรับค่าใช้จ่ายจากประเทศต้นทางได้ ดังนั้นทางกรมอุทยานฯ จึงคิดค่าเลี้ยงดูลิงอุรังอุตังทั้ง 13 ตัว ซึ่งตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้มีลูกเพิ่มมา 2 ตัว แต่ตายไป 1 ตัว จึงเหลือทั้งหมด 14 ตัว เป็นจำนวนเงินรวม 3 ล้านบาท ไม่รวมค่าจัดทำกรงชนิดพิเศษสำหรับส่งลิงกลับ ค่าขนส่ง ค่าตรวจสุขภาพ และค่าใบรับรองจากสัตวแพทย์ภาพภาษาอังกฤษว่าสัตว์ไม่ป่วยและไม่มีเชื้อโรค อย่างไรก็ตามทางอินโดนีเซียขอให้ยกเว้นค่าเลี้ยงดู 3 ล้านบาทเพราะไม่มีงบประมาณจ่าย โดยหลังจากประเทศไทยหารือกันแล้วจึงยกเว้นค่าเลี้ยงดูตามที่อินโดนีเซียขอมา
นายอดิศร กล่าวต่อว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นทางผ่านการลับลอบขนส่งสัตว์ป่าสงวน ทำให้ขณะนี้กรมอุทยานรับภาระในเรื่องสัตว์ของกลางเป็นอย่างมาก เพราะติดขัดเรื่องกฎหมายหลายฉบับ เช่น ต้องตรวจสอบดีเอ็นเอของสัตว์ให้ชัดเจนก่อนส่งคืนและต้องให้ประเทศเหล่านั้นยอมรับ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการนานทำให้เป็นภาระในการรับเลี้ยง ซึ่งเวลานี้กรมอุทยานมีสัตว์รับเลี้ยงจำนวนมาก เช่น เต่ามาดากัสการ์ 456 ตัว และสัตว์ของกลางในประเทศ เช่น เสือโคร่ง 51 ตัว, เสือดาว 7 ตัว, หมีหมา 41 ตัว และหมีควาย 151 ตัว โดยเฉพาะเสือโคร่งมีค่าอาหารวันละ 230 บาทต่อตัว/วัน หรือทั้งหมดคิดเป็น 4.2 ล้านบาท/ปี ยังไม่รวมค่าดูแลสุขภาพอื่น ๆ เช่น ฉีดวัคซีน, ขูดหินปูน และค่าวิตามิน เป็นต้น ซึ่งในแต่ละปีต้องของบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะที่ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า จากปัญหาสัตว์ป่าของกลางที่เป็นของกรมอุทยานฯ ได้มอบหมายให้กรมอุทยานฯ ไปแก้ไขคำจำกัดความของคำว่า “ของกลาง” ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่ยึดตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ หากไม่พบผู้กระทำความผิดต้องรักษาของกลางไว้จนคดีสิ้นสุด 5 ปี โดยเฉพาะกรณีสัตว์มีชีวิตหากตายลงต้องรักษาซากไว้ในห้องเย็นอีกเช่นกัน ซึ่งหากแก้ไขคำจำกัดความได้ของคำว่า “ของกลาง” สัตว์ป่าในบัญชีไซเตสได้ก็จะเป็นผลดี เพราะจะไม่ต้องรอเวลา 5 ปี และสามารถส่งคืนได้ทันที เป็นการลดภาระอย่างมาก
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @TNAMCOT, wfft.org
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก