ไขข้อสงสัย...ให้สุนัขกินกระดูกได้หรือไม่กันแน่ ?

ไขข้อสงสัย...ให้สุนัขกินกระดูกได้หรือไม่กันแน่ ?

          หลังจากมีภาพผ่าตัดเศษกระดูกออกจากท้องสุนัขแชร์ไปทั่ว ทำให้หลายคนกังวลใจว่าสุนัขกินกระดูกเข้าไปแล้ว จะเป็นอะไรหรือเปล่า วันนี้เรามีคำตอบไขข้อข้องใจมาฝากกันค่ะ

          เมื่อไม่นานมานี้มีคนนำภาพสัตวแพทย์ผ่าเศษกระดูกจำนวนมากออกจากท้องของน้องหมาออกมาทางโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนที่ชอบโยนกระดูกให้หมากิน ซึ่งเป็นภาพที่สะเทือนใจเหล่าพลพรรคคนรักสุนัขกันไม่น้อย จนเกิดคำถามต่อมาว่า ตกลงแล้วเนี่ยหมากินกระดูกได้หรือเปล่า ? เพราะบางตัวกินแล้วก็ไม่เห็นจะมีอาการอะไรเลย กระปุกดอทคอมเลยขอคำแนะนำจากเว็บไซต์ healthypets มาฝากกันค่ะ จะได้หายข้องใจกันไปว่า แท้จริงแล้ว กระดูก เป็นอาหารยอดคุณหรืออาหารอันตรายสำหรับสุนัขกันแน่

 สุนัขกินกระดูกได้หรือไม่ ?

          ตามปกติเวลาที่สุนัขกินเหยื่อ ไม่ได้เลือกกินเฉพาะเนื้ออย่างเดียว แต่ยังกินทั้งอวัยวะส่วนอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงกระดูกของเหยื่อด้วย เพราะกระดูกเหล่านั้นมีไขกระดูกที่เข้าไปช่วยบำรุงกระดูกของสุนัขให้แข็งแรง อีกทั้งการเคี้ยวกระดูกนั้นยังเป็นการช่วยบริหารกล้ามเนื้อช่วงขากรรไกรได้เป็นอย่างดี

          แต่กระดูกที่ไม่แนะนำให้สุนัขกินก็คือ กระดูกต้มสุก เนื่องจากกระดูกที่ผ่านการต้มจะแตกหักออกเป็นเศษเล็กเศษน้อยได้ง่าย และส่วนนี้นี่เองที่เป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในอย่างยิ่งสำหรับสุนัขที่กินกระดูกต้มสุกเข้าไป แถมยังไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอีกต่างหาก

ไขข้อสงสัย...ให้สุนัขกินกระดูกได้หรือไม่กันแน่ ?

อันตรายจากกระดูมต้มสุก

          ผลของการให้สุนัขกินกระดูกต้มสุก นอกจากจะเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในของสุนัข เริ่มตั้งแต่ฟัน ลิ้น กราม หลอดลม หลอดอาหาร กระเพาะ รวมไปถึงลำไส้ จนอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บแล้ว ยังส่งผลเกิดอาการข้างเคียงดังต่อไปนี้

            ช็อกหมดสติ
            อาเจียน
            ท้องเสีย
            เลือดออกทางช่องทวารหนัก
            เสียชีวิต

ประเภทของกระดูกที่สุนัขกินได้

          แต่อย่างไรก็ตามสุนัขยังกินกระดูกได้เหมือนเดิม แต่ควรเปลี่ยนมาให้กระดูกดิบแทน ซึ่งกระดูกดิบก็แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ

          1. กระดูกชิ้นเล็ก เช่น กระดูกไก่ เพราะถึงแม้กระดูกประเภทนี้จะไม่มีไขกระดูก แต่เป็นกระดูกนิ่มที่เคี้ยวและย่อยได้ง่าย

          2. กระดูกชิ้นใหญ่ เช่น กระดูกสะโพก หรือกระดูกต้นขาของสัตว์ใหญ่ ถึงแม้ขนาดของมันจะไม่เหมาะกับการเคี้ยว แต่ก็เป็นแหล่งของไขกระดูกที่เป็นสารอาหารสำคัญ แถมยังช่วยรักษาสุขภาพในช่องปากด้วย โดยในขณะที่สุนัขกำลังเคี้ยว เศษเนื้อที่ติดมากับกระดูกก็จะทำหน้าที่เหมือนขนแปรงช่วยขัดผิวฟัน เป็นการลดหินปูนและโอกาสในการเกิดโรคเหงือกอักเสบไปในตัว

ไขข้อสงสัย...ให้สุนัขกินกระดูกได้หรือไม่กันแน่ ?

ข้อควรทำและไม่ควรทำขณะให้สุนัขกินกระดูก

1. ดูแลอย่างใกล้ชิด
 
          เหตุผลที่เจ้าของควรดูแลสุนัขขณะกำลังกินกระดูกอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้สามารถช่วยสุนัขได้ทันท่วงที หากสุนัขมีอาการช็อกหรือเลือดออกในช่องปากหรือทางทวารหนัก นอกจากนี้ยังสามารถนำกระดูกไปทิ้งได้ทันที เมื่อเห็นว่ากระดูกที่สุนัขกินมีขนาดเล็กและน่าจะเป็นอันตรายกับสุนัข

2. ให้สุนัขกินกระดูกที่สดใหม่

          เพราะกระดูกที่สดใหม่ยังมีสารอาหารครบถ้วน แต่ขณะที่สุนัขกำลังกินควรหาจานมารองสักหน่อย ก่อนที่เศษเนื้อหรือน้ำมันจากกระดูกจะเปรอะเปื้อนพื้นหรือเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน

3. ไม่ควรให้สุนัขที่เป็นโรคตับกินกระดูก

          เนื่องจากในกระดูกดิบมีปริมาณของไขกระดูกมาก หากให้สุนัขที่เป็นโรคตับกินอาจจะเกิดอาการท้องเสียถึงขั้นหมดสติ แต่ทั้งนี้สามารถให้อาหารไขมันต่ำแทนได้ โดยการนำไขกระดูกออกเพื่อลดปริมาณไขมัน

4. เลี่ยงกระดูกชิ้นเล็ก

          ไม่ควรให้สุนัขกินกระดูกเล็ก ๆ ที่สามารถกลืนได้ทั้งชิ้นในครั้งเดียว หรือกระดูกที่ถูกตัดแต่งมาแล้ว เช่น กระดูกขาของสัตว์ เพราะกระดูกช่วงรอยตัดอาจแตกเป็นเศษเล็ก ๆ และทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

5. งดให้กระดูกหมู

          ไม่ควรให้สุนัขกินทั้งกระดูกหมูและกระดูกซี่โครง เนื่องจากเป็นกระดูกที่ค่อนข้างเปราะและแตกหักง่ายกว่ากระดูกชนิดอื่น ๆ
 
          จริง ๆ แล้วการให้สุนัขกินกระดูกก็เป็นเรื่องดี แต่ทั้งนี้ควรดูด้วยว่าเป็นกระดูกที่ให้สุนัขกินได้หรือไม่ ก่อนที่สุนัขของคุณจะเป็นอันตราย เพราะอาหารที่เจ้าของหยิบยื่นให้กับมือ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก healthypets.mercola.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อสงสัย...ให้สุนัขกินกระดูกได้หรือไม่กันแน่ ? อัปเดตล่าสุด 21 กรกฎาคม 2558 เวลา 14:20:40 96,013 อ่าน
TOP
x close