x close

ทำความรู้จัก นกเขา 4 สายพันธุ์ ที่คนอยากเลี้ยงควรรู้ไว้ !

         นกเขา ไม่ได้มีแค่ที่เราเห็นกันทั่วไปตามถนนนะ แต่จริง ๆ แล้วนกเขายังมีอีกหลายสายพันธุ์ ซึ่งบอกเลยว่าทั้งสีสันและลวดลายสวยงามไม่แพ้นกชนิดอื่นเลยล่ะ
นกเขา

         นกเขา จัดอยู่ในวงศ์ Columbidae นกเขาที่พบในประเทศไทยมีนกเขาพม่า นกเขาไฟ นกเขาเขียว นกเขาเปล้า นกเขาหม้อ นกเขาตู้ นกเขาป่า นกเขาแขก หรือนกเขาเทศ นกเขานา นกเขาฟ้า นกเขาใหญ่หรือนกเขาหลวง และนกเขาชวาหรือนกเขาเล็ก ในบรรดานกเขาเหล่านี้บางชนิดนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่น เพราะกล่าวกันว่าการเลี้ยงนกที่ดีจะทำให้บังเกิดความสุข บางชนิดนิยมเลี้ยงไว้ฟังเสียง และบางชนิดนิยมเลี้ยงไว้เป็นอาหาร หรือนำไปขายซึ่งบางตัวราคาเป็นแสนเป็นล้าน ถ้าลักษณะของนกตัวนั้นมีลักษณะดีตามตำราหรือกำลังได้รับความนิยม

          สำหรับนกเขาที่คนนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่นและฟังเสียงได้แก่ นกเขาใหญ่ นกเขาชวา และนกเขาไฟ โดยนกเขาไฟมีข้อพิเศษอยู่ตรงที่ชาวต่างจังหวัดนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่น ส่วนชาวกรุงเทพฯ นิยมเลี้ยงไว้เป็นอาหารมากกว่าจะเลี้ยงไว้ดูเล่น

นกเขาชวา

1. นกเขาชวา (Zebra Dove)

          นกเขาชนิดพันธุ์นี้เป็นนกเขาที่มีขนาดเล็กมากที่สุดเป็นนกที่มีเสียงขันไพเราะเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป นอกจากนี้ยังเชื่อถือกันว่าเป็นนกที่นำโชคลาภมาให้แก่ผู้เลี้ยงอีกด้วย

          นกเขาชวามีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย (ชวา) มาเลเซีย ส่วนในไทยนั้นพบมากทางภาคใต้เมื่อ 70 ปีก่อนซึ่งปัจจุบันถูกนำมาเลี้ยงในประเทศและแพร่พันธุ์ได้ดีไปทุกภาคจน กลายเป็นนกประจำถิ่น พบได้ในทุ่งโล่ง และป่าละเมาะ และมีพบในฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย

          - รูปร่างลักษณะ

          นกเขาชวาตัวเล็กกว่านกเขาไฟ ตัวเล็กกว่านกเขาชนิดอื่นๆ ขนปกคลุมตัวสีน้ำตาลหัวสีเทา หรือมีสีที่หัวเป็นสีน้ำเงิน ด้านข้างคอมีแถบสีดำสลับกับแถบขาวเป็นลายตามขวาง ด้านหลังสีเข้มมีขีดขวาง คล้ายกับลายของม้าลายในต่างประเทศ จึงเรียกนกเขา "ม้าลาย"ด้านท้องสีจาง ใต้ลำตัวเป็นสีขาวมีขีดขวางเล็ก ขอบท้ายของขนหางสีขาว

          - อุปนิสัย

          โดยปกติแล้วนกเขาชวาชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ป่าละเมาะชายทุ่งและบริเวณที่ทำการเพาะปลูก ชอบอยู่กันเป็นคู่ บางทีก็เห็นอยู่เดี่ยวแต่ไม่ ชอบหากินอยู่เป็นฝูงใหญ่ มักขันบ่อย ๆ ในยามเช้าและยามเย็น เป็นนกที่เชื่องคนง่าย

          - ลักษณะที่ดี

          ปากงอเหมือนขอช้าง, มีสร้อยรอบคอ, ขนที่คอสีหมึกดำ, อกนูน, ขนสีดำมีสีขาวแซมที่ปีกหรือขนขาวทั้งตัว, หน้าผากขาว, ขนขาวรอบขอบตา,ขอบตากว้าง, ขนหางยาวยื่นออกเป็นเส้นเดียว, เท้าสีขาวเขียว ฝ่าเท้าดำ

นกเขาใหญ่

2. นกเขาใหญ่ (Spotted-necked Dove or Spotted Dove)

          นกเขาชนิดพันธุ์นี้เป็นนกเขาที่มีลำตัวใหญ่ คนไทยเรานิยมเลี้ยงกันมาแต่โบราณกาล ซึ่งผู้นิยมการเลี้ยงนกเขาชนิดนี้ต่างก็มีความรู้สึกว่านกเขาใหญ่เป็นนกเขา ที่น่ารักและน่าเลี้ยงมาก เพราะคุณสมบัติของนกเขาใหญ่ชันดี นับว่ามีลีลาการขันต่างกว่านกชนิดอื่น ใครได้ฟังจะไม่รู้จักเบื่อ

          นกเขาใหญ่ บ้างก็เรียก นกเขาหลวง หรือนกเขาหม้อ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย จีน ไทย และประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ปัจจุบันมีการนำมาแพร่พันธุ์จนกลายเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยตามทุ่งโล่ง ป่าละเมาะ และป่าทึบ

          - รูปร่างลักษณะ

          นกเขาใหญ่จะมีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ทั้งนกเขาตัวผู้และตัวเมียต่างก็มีลักษณะคล้ายกันคือ ขนปกคลุมตัวสีน้ำตาล ด้านหลังสีเข้มกว่าด้านท้อง หัวสีเทา ด้านข้างของคอและท้ายทอยมีแถบสีดำกว้าง ภายในแถบดำมีจุดกลมเล็ก ๆ สีขาวกระจาย ตรงปลายปาก ม่านตาสีชมพูอ่อนๆ แกมเหลืองจางๆ ปาก สีดำ แข็งและนิ้วเท้าสีค่อนข้างแดง เวลาบินเห็นขอบท้ายของขนหางสีขาว

          - อุปนิสัย

          นกเขาใหญ่ชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งชายทุ่งนา เรือกสวนและบริเวณที่มีการเพาะปลูก ปกติตามทุ่งนาที่ราบต่ำชอบอยู่ก้นเป็นคู่ บางตัวก็อยู่เดี่ยวจะขันคูในเวลาเช้าและเย็น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะเข้าอยู่รวมกัน หากินเป็นฝูงใหญ่ และในการทำรังของมันจะมักจะใช้กิ่งไม้เรียงซ้อนกัน รังมีลักษณะบอบบางมาก วางไข่ 2 ฟอง นกเขาชนิดนี้ถ้าฝึกจนเชื่องจะเป็นนกที่ฉลาดรู้จัดจำเจ้าของ ช่างประจบ

          - ลักษณะที่ดี

          หัวโต, ปากสั้น, ปลายจงอยปากงอเหมือนขอช้าง ขอบตากว้างชัด,ดวงตาสุกแดงเป็นสองชั้น สะพายท้ายตางอและดำ คอยาว และมีสร้อยรอบคอ,คอต่อหลังตั้งเป็นหนอก ( คอหนอก ) หรือสันหลังแหลม ไหล่ผาย,อกตั้ง ไม่แคบ กุกหรือหลิ่วต้น หัวปีกแหลมและชิดปิดบัง,ปลายปีกไขว้ ท้ายตก ขนสันหลังหนา,ขนยาว รากขนดำลึก น้ำหมึกมาก แข้งมีสีแดงผักปลัง เท้าใหญ่ เล็บดำ เล็บก้อยยาว

นกเขาใหญ่

3. นกเขาไฟ

          นกเขาไฟจะตัวเล็กกว่านกเขาใหญ่ ขนปกคลุมตัวสีน้ำตาลปนเทา มีทางสีดำพาดขวางตรงท้ายทอย เพศผู้มีหัวสีเทาและมีต้นปีกเป็นสีน้ำตาลแดงมาก เวลาบินเห็นขอบท้ายของขนหางสีขาว เป็นนกประจำถิ่น ปัจจุบันพบที่บริเวณตามทุ่งโล่ง ทุ่งนาและป่าละเมาะ

นกเขาใหญ่

4. นกเขาเขียว

          นกเขาเขียว (Emeral dove) ขนาดตัวเท่ากับนกเขาไฟ ขนปกคลุมตัวด้านหลังสีเทา ตะโพกสีเขียวและมีแถบสีขาว 2 แถบ ปีกสีเขียว ด้านท้องสีน้ำตาลแดง เพศผู้มีหน้าผากและคิ้วขาว เพศเมียมีหัวสีน้ำตาลมีคิ้วขาว ปัจจุบันพบที่บริเวณในป่าทึบ ปกติพบตามลำพังตัวเดียวตามที่ร่มทึบและชื้น ส่วนมากจะบินในระดับต่ำกว่าเรือนยอดของต้นไม้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก birdingintaiwan.com, outdoors.webshots.com, life.nbii.gov

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำความรู้จัก นกเขา 4 สายพันธุ์ ที่คนอยากเลี้ยงควรรู้ไว้ ! อัปเดตล่าสุด 22 มิถุนายน 2561 เวลา 00:14:29 108,795 อ่าน
TOP