x close

กรมปศุสัตว์ ชี้ ป้องกันตัวจากสัตว์ทำร้าย ถือว่าไม่เป็นการทารุณกรรม

ฆ่าหมา

          พงศพัศ นำหนุ่มถูกสุนัขกัดที่แฟลตลาดยาวเข้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะสมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอชี้ตัวสุนัขที่กัดเพื่อหาคนรับผิดชอบ ด้านกรมปศุสัตว์ระบุสามารถป้องกันตัวจากการถูกสัตว์ทำร้ายได้ไม่ถือเป็นการทารุณกรรม

          เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2559 พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเเก้ปัญหาสุนัขจรจัด หลังมีข่าวเกี่ยวกับการฆ่า และทารุณกรรมสุนัขเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำนายยุทธศักดิ์ ธงงาม ที่ถูกสุนัขกัดที่แฟลตตำรวจลาดยาวกัด เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา และเสียค่ารักษาพยาบาล 9 พันบาท แต่ไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้ เข้าร่วมหารือ

          นพ.พงษ์เทพ เอกอุดมชัย ผู้อำนวยการส่วนบำบัดรักษาโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ระบุว่า จากกรณีถูกสุนัขเข้ามาทำร้ายจะป้องกันได้ จะมากน้อยขนาดไหนต้องดูเหตุ และต้องป้องกันตัวเองก่อน ด้วยการยืนขู่ก่อน แต่ถ้าประชิดตัวมากอาจใช้ไม้หรือสิ่งใกล้ตัวในการป้องกัน ซึ่งจะเข้าข้อยกเว้น (6) ของ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ส่วนเรื่องใช้ปืนต้องดูหลักฐานหลาย ๆ อย่าง เพื่อพิจารณา


          สำหรับปัญหาทิ้งสัตว์ มีกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ม.23 ห้ามปล่อยและทิ้งโดยไม่ทีเหตุอันสมควร หากพบเห็น ปรับ 4 หมื่นบาท และถ้าไม่อยากเลี้ยงต่อกรมปศุสัตว์มีรับรองแต่งบประมาณและพื้นที่ไม่อำนวย
ฆ่าหมา

          สัตวแพทย์หญิง เบญจวรรณ สิทธณาสัย สำนักงานสัตวแพทย์ กทม. ระบุว่า หน้าที่ กทม. ถ้าหากมีปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับสัตว์ คือจับไปกักดูอาการ ฉีดยา เลี้ยงจนหมดอายุขัย และดูว่าใครเป็นเจ้าของเพื่อพูดคุยกัน ส่วนกรณีแฟลตตำรวจ มีการติดต่อกับหลายหน่วยงานแต่ไม่เป็นระบบทำให้ไม่ทราบจำนวนสุนัขที่ได้รับการดูแล

          พ.ต.อ. ปจภณ รอดโพธิ์ทอง ในฐานะตำรวจดูแลแฟลตตำรวจส่วนกลาง ระบุว่า แฟลตตำรวจมีทั้งหมด 7 แห่ง และจุดที่มีปัญหาคือแฟลตลาดยาวมีสุนัข 40-50 ตัว และทุกเดือนมีการฉีดวัคซีน โดยที่ผ่านมาทำหนังสือขอเขตจตุจักรจับไปไว้ที่ปลอดภัย แต่ปัญหาคือจับยาก

          ตัวแทนสมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ไปดูพื้นที่แล้ว คนอยู่ร่วมกับสัตว์เยอะ ส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวตำรวจ มีการจัดระเบียบสุนัขค่อนข้างดี แต่ขอให้ผู้เสียหายชี้ตัวสุนัขตัวที่กัด รวมถึงพูดคุยกัน และยินดีนำสุนัขตัวที่กัดนายยุทธศักดิ์ ไปดูแลเฝ้าดูพฤติกรรมเอง ส่วนปัญหาการทิ้งสัตว์ ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกัน ใครรับผิดชอบให้ดูเป็นกรณีไป

          นายโรเจอร์ โลหนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ (ประเทศไทย) ระบุว่า ยินดีเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อผลักดันทำให้เป็นสุนัขชุมชน ตัวไหนมีปัญหาก็เอาไปสถานสงเคราะห์ เพื่อดูแล เรื่องสุนัขจรจัดเราเป็นทั้งต้นเหตุและปลายเหตุ ซึ่งจะมีสัตว์อีกหลายชนิดที่ถูกทอดทิ้ง และวิธีแก้ไม่ใช่การกำจัด แต่ต้องช่วยกันทำให้สุนัขเข้ามาในระบบ ส่วนเรื่องการรับผิดชอบนายยุทธศักดิ์ คงต้องใช้ประกันสังคมไปก่อน

          พล.ต.อ. พงศพัศ จะนำเรื่องทั้งหมดเข้าสู่กรรมาธิการสัตว์ของสภานิติติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพื่อหาทางแก้ปัญหา และขอฝากถึงประชาชน หากไม่มีความพร้อมอย่าคิดนำสัตว์มาเลี้ยง พร้อมกันนี้ได้มอบเงินส่วนตัวช่วยเหลือนายยุทธศักดิ์ไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนนำสื่อมวลชนลงพื้นที่แฟลตลาดยาวเพื่อหาตัวสุนัขที่กัดนายยุทธศักดิ์ รวมถึงผู้รับผิดชอบมาพูดคุยต่อไป

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมปศุสัตว์ ชี้ ป้องกันตัวจากสัตว์ทำร้าย ถือว่าไม่เป็นการทารุณกรรม โพสต์เมื่อ 15 เมษายน 2559 เวลา 18:57:47 12,290 อ่าน
TOP