x close

แนะเลี้ยง นกกรงหัวจุก ให้เป็นนักรบราวเหล็ก


นกกรงหัวจุก



นิพนธ์ สีลาเนียม คนรักนกแห่งสวนผึ้ง ราชบุรี แนะเลี้ยงนกกรงหัวจุก ให้เป็น "นักรบราวเหล็ก" (มติชนออนไลน์)

คอลัมน์ เทคโนฯสัตว์เลี้ยง
โดย มนตรี แสนสุข

          นกกรงหัวจุก นกตัวน้อย ปราดเปรียว เสียงไพเราะ หลายคนตั้งฉายามันคือ "นักรบราวเหล็ก" นั่นก็คือ เวลานำกรงขึ้นราวเหล็กในสนามแข่งขันการประกวดเสียงนกร้อง นักรบตัวน้อยน่ารักเสียงใสจะคึกคักปราดเปรียวมีความหึกเหิมที่จะเข้าต่อสู้พันตูกับนกกรงอื่น ๆ นักรบตัวน้อยจะส่งเสียงร้องก้องกังวานเข้าต่อกรกับนกกรงข้าง ๆ ประหนึ่งใช้เสียงเข้าข่มขวัญ ฝ่ายนกคู่ต่อสู้กรงข้าง ๆ ก็จะส่งเสียงร้องก้องกังวานโต้ตอบเช่นกัน เป็นการใช้เสียงเข้าต่อกร เพราะไม่มีทางที่จะจิกตีให้รู้แพ้รู้ชนะกันได้แน่นอน นกเก่งๆ หลายตัวพอขึ้นราวเหล็กในสนามแข่งขัน เพียงแค่ส่งเสียงร้องก้องกังวานที่ไพเราะ ก็เล่นเอาไม่มีใครอยากจะให้นกของตนเองไปอยู่ข้าง ๆ ซะแล้ว และนี่ก็เป็นที่มาของ "นักรบราวเหล็ก" การเลี้ยงนกกรงหัวจุกเพื่อเข้าสู่สนามแข่งขัน การประกวดเสียงร้องของนก ซึ่งปัจจุบันนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ๆ

          คุณนิพนธ์ สีลาเนียม หรือ นวย จอมบึง กรรมการบริหารสมาพันธุ์ผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก ภูธรภาค 7 แห่งอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า นกกรงหัวจุกนี้เริ่มเลี้ยงกันในจังหวัดภาคใต้มาก่อน มีการแข่งขันประกวดเสียงร้องของนกมานานหลาย 10 ปีแล้ว ได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันความนิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุกแพร่หลายไปทั่วประเทศ เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

          คุณนิพนธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า นกกรงหัวจุกยังถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์ป่าสงวนฯ ถ้าถามว่า มีไว้ในครอบครองจะผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังผิดกฎหมายอยู่ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้เข้ามาจดทะเบียนนกเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ เพาะขยายพันธุ์ และเพื่อการประกวดเสียงร้อง เป็นนกเลี้ยงตามบ้านทั่วๆ ไป ไม่ได้ไปจับมาจากป่า เลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ จึงสามารถเพาะเลี้ยงกันได้เช่นในทุกวันนี้

          นกกรงหัวจุก ที่นิยมมาเลี้ยงกันนั้น คุณนิพนธ์ บอกว่า สายพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นนกมาจากภาคใต้ ลักษณะของนกที่นิยมเลี้ยงต้องแก้มแดง หงอนสูงโค้ง ก้นแดง ร้องเสียงไพเราะ ซึ่งในกลุ่มเดียวกันนี้ก็มีนกปรอดบ้านไม่มีจุก นกปรอดบ้านหน้าขาว และนกปรอดบ้านหน้ามอมจุกดำ ไม่นิยมเลี้ยงเพื่อการแข่งขันเสียงร้อง เพราะร้องน้ำเสียงไม่ไพเราะ

          นกกรงหัวจุกแต่ละถิ่นผู้เพาะเลี้ยงนกที่ช่างสังเกตและศึกษาเรียนรู้จริง ๆ จัง ๆ แล้วจะทราบดีว่ามีลักษณะรูปพรรณสัณฐานแตกต่างกัน แต่ก็ไม่มากนัก แตกต่างในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น คนที่ไม่ใช่นักเลี้ยงนกกรงหัวจุกจริงๆ อาจจะไม่ทราบข้อแตกต่างก็ได้ อย่างเช่น นกกรงหัวจุกจากสวนผึ้ง ราชบุรี ก็มีความแตกต่างจากนกภาคใต้ น้ำเสียงลีลาการร้องก็แตกต่างออกไป ปัจจุบัน นกจากสวนผึ้งได้รับความนิยม จัดอยู่ในชั้นแนวหน้าของนกเสียงไพเราะก็ได้

          "นกจากใต้ประเภทเสียงทองจะร้องเสียงใหญ่ห้าว บางตัวร้องได้ถึง 6-7 พยางค์ การฟังเสียงร้องของนกนั้น นับจากคำร้อง ถ้าร้อง 1 ครั้ง นับเป็น 1 พยางค์ เช่น นกร้อง จก ควิก ควิก แบบนี้ 3 พยางค์ ร้อง จก ควิก ควิก ไขว ยอ ลิ เหลี่ยว อย่างนี้ 7 พยางค์ แต่นกส่วนใหญ่จะร้อง 3 พยางค์ เช่น จก ควิก ควิก หรือ ควิก จก ควิก นกประกวดเสียงร้องมักจะร้อง 4-5-6 พยางค์ การร้องแต่ละพยางค์ของนกนั้น เขาเรียกว่า "แม่ไม้เพลงนก" ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องเข้าใจและฟังเสียงร้องของนกได้"

          คุณนิพนธ์ กล่าวและว่า สำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นประเภทมือใหม่สมัครเล่นนั้น ก่อนจะไปซื้อนกมาเลี้ยงขอให้ปรึกษาคนที่มีความรู้ กำลังเลี้ยงนกอยู่ในขณะนี้ หรือจะไปซื้อนกตามสนามแข่งขันนกกรงหัวจุกทั่ว ๆ ไปก็ได้ การซื้อนกไม่จำเป็นต้องซื้อนกที่สวยงามถูกต้องตามองค์ประกอบทั้งหมด ทุกวันนี้เราเลี้ยงนกก็เพื่อฟังเสียงร้องที่ไพเราะ เลี้ยงเพื่อการประกวดเสียงร้องของนก เวลานำนกไปแข่งขันตามสนามต่าง ๆ เมื่อนกขึ้นราวเหล็กในสนาม นกจะต้องร้องอย่างเดียวเท่านั้น กรรมการจึงจะตัดสินให้คะแนนเสียงร้องของนก ไม่ได้ดูว่านกตัวนั้นจะสวยหรือไม่สวยขนาดไหน และเสียงร้องของนกต้องร้อง 3 พยางค์ ขึ้นไป จึงจะซื้อได้

          "ขอให้ท่านซื้อนกจากคนที่เราอยากซื้อ แต่อย่าซื้อนกจากคนที่เขาอยากขาย"

          คุณนิพนธ์ บอกว่า นกที่เขาอยากขายก็หมายความว่า นกตัวนั้นไม่สู้บนราวเหล็ก หรือร้องไม่เพราะ เขาจึงอยากขาย นกต้องมีข้อบกพร่อง เจ้าของจึงอยากขาย แต่กับนกที่เราอยากซื้อก็เพราะเราเห็นว่านกตัวนั้นดี มีน้ำเสียงไพเราะก้องกังวาน หรือคนที่เลี้ยงนกอยู่เขาเลี้ยงเพื่อส่งนกเข้าประกวด กรณีมือใหม่สมัครเล่นถ้าคนขายให้คำปรึกษาได้ดี เลี้ยงนกเพื่อการแข่งขันประกวดเสียงจริงๆ จะมีความน่าเชื่อถือ ถ้ามีโอกาสเลือกนกได้ถึงแม้ราคาแพง หากสู้ราคาได้ก็ควรซื้อ ดีกว่าเลี้ยงนกที่ไม่มีอนาคตในการลงสนามแข่งขัน เปลืองค่าอาหารเปล่าๆ

          และถ้าหากจะซื้อนกเล็กหรือลูกนกมาอนุบาลและฝึกซ้อมเองตั้งแต่เล็ก ๆ ได้ก็ควรซื้อ สำหรับกรงนกก็ไม่จำเป็นต้องซื้อกรงราคาแพง ๆ เป็นหมื่นเป็นแสนบาท มือใหม่ ๆ ซื้อกรงแค่พอเลี้ยงนกได้ก็พอแล้ว ราคากรงก็ตั้งแต่ใบละ 100-500 บาท กำลังดี แต่ถ้าเงินมากพอจะซื้อกรงหลักพันหลักหมื่นก็ได้ไม่ว่ากระไร นอกจากนี้ ควรซื้อกรงพักนกซึ่งเป็นกรงใหญ่สักหน่อย ประมาณ 40-50 ซี่ เพื่อให้นกพักหลังแข่งขัน ส่วนกรงธรรมดานกใหม่ ๆ ควรเลี้ยงอยู่ในกรง 13-15 ซี่ อาจจะเล็กไป แต่จำเป็นต้องฝึกให้นกเกิดความเคยชินกับกรง กับเจ้าของ และสภาพแวดล้อมรอบข้าง สถานที่แขวนนกควรแขวนในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี โล่งโปร่ง และต้องหาผ้าคลุมกรงนกด้วย เพื่อไม่ให้นกเครียดจนเกินไป

          อาหารของนก ให้กินอาหารเม็ดเป็นอาหารนกกรงหัวจุกโดยเฉพาะเลยจะดีกว่า ส่วนผลไม้นกกินได้แทบทุกชนิด น้ำต้องให้น้ำสะอาด เปลี่ยนน้ำทุกวัน ใส่ยาปฏิชีวนะ วิตามิน B รวม เป็นยาน้ำสีแดงๆ ใส่น้ำให้นกกินเพื่อคลายเครียด

          สำหรับนกที่เตรียมตัวลงแข่งขันเสียงร้องต้องให้อาหารเสริมประเภทหนอนนก และผลไม้ จะช่วยให้นกมีความสมบูรณ์ คึกคัก กระปรี้กระเปร่าพร้อมที่จะขึ้นสู่ราวเหล็กในสนามแข่งขัน

          คุณนิพนธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า นกกรงหัวจุกสามารถฝึกให้ร้องตามที่เราต้องการได้ โดยการหานกแม่แบบ หรือที่เรียกว่า "นกครู" ที่มีเสียงไพเราะ ร้องได้ 3-4-5-6 พยางค์ ตามที่เราต้องการมาเป็นแม่แบบแขวนกรงไว้ ระยะห่างพอสมควร นกที่ฝึกร้องจะค่อยๆ ร้องตามนกแม่แบบหรือนกครู นกฝึกสามารถร้องเพลงตามนกครูได้ กรณีที่หานกครูไม่ได้บางคนใช้เปิดเทปให้นกร้องเลียนเสียงก็มี ประการสำคัญคือนกครูต้องร้องดี ร้องไพเราะถูกต้องตามพยางค์ ไม่ใช่ร้องมั่วสะเปะสะปะจะทำให้นกฝึกร้องมั่วตามไปด้วย

          การเลี้ยงนกกรงหัวจุกจำเป็นต้องเอานกตากแดดด้วย คุณนิพนธ์ บอกว่า การตากแดดก็เพื่อฝึกให้นกขยัน ลดไขมันในตัวนก และให้นกชินกับสภาพของแดด เพราะเวลาแข่งขันนกนั้นจะแข่งกันตั้งแต่สายยันบ่ายคล้อย ดังนั้น นกจึงต้องพร้อมที่จะตากแดดอยู่เสมอ การนำนกในกรงขึ้นตากแดดจึงมีความสำคัญมาก

          การดูแลนกในแต่ละวันก็จะต้องฝึกให้นกร้องเพลงตามแม่ไม้เพลงนก โดยหานกครูมาช่วยฝึกให้ร้อง นกครูจะร้องไปตามช่วงจังหวะ นกเราเองก็จะร้องตามนกครูเป็นการเลียนเสียงร้องจากนกครู หากเลี้ยงตั้งแต่นกเล็กๆ ไปจนกระทั่งเติบใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี นกก็สามารถลงสนามแข่งบนราวเหล็กได้แล้ว

          แต่ก่อนหน้านั้นช่วงปีแรก เมื่อนกเริ่มร้องเสียงดี มีจังหวะจะโคน ก็ต้องหมั่นนำนกออกหาประสบการณ์โดยการนำไปตามสถานที่ต่างๆ ให้นกได้เรียนรู้นอกสถานที่ ไม่ตื่นกลัวสถานที่แปลกใหม่ ถึงคราวลงสนามแข่งขันตามที่ต่างๆ นกจะได้ไม่ตื่นสถานที่

          คุณนิพนธ์ บอกว่า การนำนกตากแดดน่าจะตากแดดก่อนเที่ยง ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงนำเข้าร่ม ซึ่งตรงจุดนี้ก็ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะตากแดดสายหรือตากแดดบ่าย แล้วแต่คนเลี้ยงว่าจะกำหนดนำนกตากแดดเวลาไหน ไม่มีกฎตายตัว

          ส่วนวิธีการทำให้นกร้องเสียงใสดีนั้น แต่ละคนก็มีเคล็ดลับกันทั้งนั้น สำหรับผมให้นกกินน้ำผลไม้รวม ให้กินหนอน นกจะคึกคะนองเต็มที่ เปล่งเสียงร้องก้องกังวาน ดูกระปรี้กระเปร่าก็สามารถนำไปสู่สนามประกวดแข่งขันเสียงร้องได้แล้ว

          "นกบางตัวอยู่ที่บ้านใต้ชายคา คึกคะนองร้องดังทั้งวัน พอนำไปสู่สนามแข่งขัน กลับไม่ร้องหรือทำเป็นร้องยังกะนกกระจิบ นกแบบนี้มีมาก เขาเรียกว่า "นักสู้ชายคา" คือเก่งแค่ชายคาบ้าน พอลงสนามแข่งจริงๆ กลับไม่ได้เรื่อง หนทางแก้ไขก็ต้องหมั่นนำนกออกไปหาประสบการณ์นอกบ้านให้บ่อยครั้ง นกจะได้ไม่ตื่นกลัวเวลาอยู่ต่างสถานที่"

          คุณนิพนธ์ กล่าวอีกว่า เลี้ยงนกกรงหัวจุกนั้นไม่ยาก สนุกและเพลิดเพลินอีกต่างหาก เมื่อเลี้ยงจนนกร้องเก่งแล้ว ลองนำนกไปสู่สนามแข่งบ้าง ท่านและนกจะได้ประสบการณ์จากการแข่งขันประกวดเสียงนกร้องอีกรูปแบบหนึ่ง




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก learners.in.th











เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แนะเลี้ยง นกกรงหัวจุก ให้เป็นนักรบราวเหล็ก อัปเดตล่าสุด 2 ตุลาคม 2552 เวลา 22:28:25 78,523 อ่าน
TOP