x close

กทม.ผวาโรคพิษสุนัขบ้า ส่งรถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่




\'หมาบ้า\'หน้าร้อน! รีบนำมา ฉีดวัคซีน (ไทยโพสต์)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          กทม.ผวาโรคพิษสุนัขบ้าแพร่ระบาดช่วงอากาศร้อนจัด ส่งรถสัตวแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการฉีดวัคซีน-ทำหมันสัตว์เลี้ยงตามแหล่งชุมชน เผยสถิติเจอเชื้อโรคในหัวสุนัขมีจำนวนลดลง แต่เมืองกรุงยังไม่ปลอดโรคหมาบ้า

          เมื่อวันที่ 24 เมษายน แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดตัวรถสัตวแพทย์เคลื่อนที่ของ กทม. เพื่อให้บริการผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ

          พญ.มาลินีให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ถึงมีนาคม 2555 ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า แต่จากการสุ่มตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากหัวสุนัขที่ยังมีอยู่ในขณะนี้ แสดงว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า กทม.จึงต้องเดินหน้าควบคุมและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเข้มข้นในพื้นที่ทั้ง 50 เขต เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศร้อนจัด สุนัขอาจหงุดหงิดและมีโอกาสที่จะไปกัดคนมากขึ้น หากสุนัขมีเชื้อไวรัสเรบีส์ก็จะทำให้คนที่โดนกัดมีโอกาสเสียชีวิต 100% เพราะขณะนี้ยังไม่มียาใดๆ ที่รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ กทม.จึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค รวมทั้งเร่งจับสุนัขจรจัดไปฉีดวัคซีนและทำหมันด้วย

          ส่วนสถิติการตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากหัวสุนัขในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลง เมื่อปี 2553 พบ 106 หัว ปี 2554 พบจำนวน 89 ตัว และในเดือนมกราคม 2555 พบ 8 หัว หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะเห็นว่าค่อยๆ ลดลง จากเดิมเคยพบเชื้อร้อยละ 40 ปัจจุบันเหลือร้อยละ 30 ดังนั้นจึงถือได้ว่า กทม.สามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าได้ และตั้งเป้ากำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดโดยไม่มีผู้เสียชีวิตภายในปี 2563 สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศล่าสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามีจำนวนไม่ถึง 10 ราย

          พญ.มาลินีกล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีสุนัขมีเจ้าของประมาณ 600,000 ตัว และสุนัขจรจัดประมาณ 100,000 ตัว ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา กทม.ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไปแล้วจำนวน 378,048 ตัว สำหรับรถสัตวแพทย์เคลื่อนที่จะออกให้บริการผ่าตัดทำหมันที่ได้มาตรฐานปลอดเชื้อ และยังสามารถวินิจฉัยความผิดปกติของสุนัขที่มารับบริการ รวมทั้งให้บริการครบวงจรทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฝังไมโครชิพ และจดทะเบียนสุนัขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

          นอกจากนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับภัยของโรคพิษสุนัขบ้าและการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง โดยภายในรถมีห้องเอกซเรย์ด้วยเครื่องเอกซเรย์ดิจิตอล เตียงผ่าตัดทำหมัน 3 เตียง ชุดกู้ชีพสุนัข ซึ่งพร้อมให้บริการตามแหล่งชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง ติดต่อรถสัตวแพทย์เคลื่อนที่ได้ที่ โทร.0-2248-7417

          "ช่วงเดือนเมษายน อากาศจะร้อนจัดมาก ซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตและแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่จะต้องระวังคือ โรคพิษสุนัขบ้า หากถูกสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสเรบีส์กัด ข่วน เลีย หรือมีน้ำลายกระเด็นเข้าตา ปากและทางผิวหนังที่มีบาดแผล เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายทำให้เสียชีวิต ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันจึงขอให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สัตว์เลี้ยงอายุตั้งแต่ 3 เดือนจะต้องฉีดวัคซีนเข็มแรก เนื่องจากเด็กๆ จะนิยมเล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวเล็กๆ เมื่อโดนกัดหรือข่วนเพียงเล็กน้อยก็คิดว่าไม่มีอันตราย อาจจะเสียชีวิตได้ถ้าสัตว์นั้นมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า" รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว และว่า สถิติผู้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าร้อยละ 60 เกิดจากสุนัขของตนเองมากกว่าสุนัขจรจัด

          สำหรับอาการของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีน้ำลายไหล ซึม เบื่ออาหาร คอแข็ง วิ่งพล่าน โมโหร้าย วิ่งกัดคนไม่เลือก หากพบเห็นไม่ควรเข้าใกล้ และแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อกำจัดสัตว์ที่มีอาการโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อคนโดนสุนัขกัดจะต้องล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หลายๆ ครั้ง ไม่ควรบีบเลือดออกจากแผล เมื่อล้างแผลให้สะอาด เช็ดแผลให้แห้ง แล้วใส่ยาแผลสด กักขังสุนัขไว้ในกรง ให้น้ำให้อาหารตามปกติ ภายในวัน 10 วัน ถ้าสุนัขไม่มีอาการใด ๆ แข็งแรง และกินอาหารได้ตามปกติ ก็มั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า หากสุนัขตายจะต้องรีบแจ้งให้ปศุสัตว์จังหวัดตรวจสอบสวนโรคทันที และรีบนำคนที่ถูกสุนัขกัดพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กทม.ผวาโรคพิษสุนัขบ้า ส่งรถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ อัปเดตล่าสุด 25 เมษายน 2555 เวลา 11:30:50
TOP