x close

3 ขั้นตอนสำคัญดูแลสัตว์สูงอายุให้แข็งแรงอยู่เสมอ





             นอกจากคนด้วยกันแล้ว สิ่งที่คนรักและห่วงใยมากที่สุด คือ บรรดาเหล่าเพื่อนซี้สี่ขา ที่ค่อยสร้างเสียงหัวเราะให้คุณ อยู่เป็นเพื่อนคุณยามเหงา แต่วัฏจักรชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกใบนี้ต้องมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เจ้าเพื่อนซี้สี่ขาเหล่านี้ก็เช่นกัน เมื่อถึงเวลามันก็จะแก่ตัวลง ซึ่งเราก็ต้องรู้จักวิธีดูแลมันและดูแลมันให้มากขึ้นเพราะสัตว์เลี้ยงก็เหมือนคน เมื่อแก่แล้ว ก็จะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เหมือนแต่ก่อน วันนี้เราจึงมีวิธีสำคัญ ๆ สามประการ เพื่อดูแลสัตว์เลี้ยงสูงอายุให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตามมาดูกันเลย

1. พาสัตว์เลี้ยงไปออกกำลังกายอยู่เสมอ

             เจ้าตูบที่แก่แล้วมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเรืองไขข้อสูง ฉะนั้นแล้วการออกกำลังกาย โดยการวิ่งเหยาะ ๆ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด โดยเจ้าตูบจะต้องการการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ ผู้เป็นเจ้าของควรพามันออกเดินเล่นราว ๆ 10 กิโลเมตรต่อ 1 สัปดาห์ โดยแต่ละวันเจ้าของก็เฉลี่ย ๆ กันไปว่าวันไหนจะให้วิ่งเท่าไหร่ ที่ไม่ให้เหนื่อยเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจได้

             ส่วนแมวนั้น ตั้งแต่เด็ก ไขข้อของมันไม่ได้รับน้ำหนักมากเหมือนสุนัข ดังนั้น แมวจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม แมวจะเสี่ยงเป็นโรคอ้วน และมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวาน ถ้าคุณลองคลำเจ้าเหมียวแล้วไม่เจอกระดูกของมันแล้วละก็ คุณสงสัยได้เลยว่ามันอาจเป็นโรคอ้วนได้ ดังนั้น การออกกำลังกาย เดินเล่น ก็เป็นอีกกินกรรมที่เจ้าเหมียวต้องทำ แม้มันจะแก่แล้ว แต่ก็อย่าปล่อยให้มันนอนซมอยู่แต่บ้านหล่ะ ไม่งั้นโรคอ้วนถามหาแน่

 2. หมั่นพาไปพบสัตว์แพทย์

             การพาสัตว์เลี้ยงที่แก่แล้วไปตรวจเช็คสุขภาพอยู่เสมอเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะการพาไปตรวจสุขภาพจะสามารถตรวจได้ทุกอย่างว่าสัตว์เลี้ยงของคุณมีปัญหาตรงไหนบ้าง จะได้เตรียมป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่มันจะป่วยไปจริง ๆ แล้วจะต้องมานั่งรักษาทีหลัง ซึ่งเป็นเรื่องยาก ดังนั้นควรพาสัตว์เลี้ยงของคุณไปตรวจสุขภาพ 2-3 ครั้งต่อปี

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างในสัตว์เลี้ยง เป็นตัวบ่งชี้ได้อย่างดีว่า สัตว์เลี้ยงของคุณกำลังมีปัญหาสุขภาพ และแมวจะเป็นสัตว์ที่สังเกตเห็นได้ยากกว่าสุนัขว่ามันป่วยหรือไม่ เพราะมันเป็นสัตว์ที่รักอิสระ และมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอด มันจึงไม่ค่อยแสดงออกถึงความเจ็บปวดซักเท่าไหร่ ทั้งนี้ เจ้าของทั้งหลายควรสังเกตน้ำหนัก พฤติกรรมการกิน การนอนของสัตว์เลี้ยงว่ามีอะไรผิดปกติไปหรือไม่ นอกจากนี้ สัตว์ที่มีอายุมากยังมีปัญหาเรื่องการมองเห็น การได้ยิน ที่มักร่วงโรยไปตามวัยอยู่แล้ว และก็มีโอกาสเป็นโรคร้ายทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเนื้องอก โรคหัวใจ ได้ง่ายกว่าสัตว์เลี้ยงในวัยปรกติด้วย

 3. ดูแลอาหารการกินเป็นพิเศษ

             นอกจากการออกกำลังกายและการเล่นแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เจ้าตูบที่แก่แล้วควบคุมเรื่องน้ำหนักได้ คือ เรื่องอาหารการกิน เปลี่ยนจากเนื้อสัตว์ทั้งหลายมาเป็นอาหารจำพวกผัก เช่น แครอท แอบเปิ้ล บร็อคโคลี่ หรือสตรอเบอรี่ เจ้าตูบก็กินได้ ที่ถึงแม้มันจะไม่ใช่อาหารสำหรับสัตว์ แต่มันก็จะลองกินสิ่งที่แตกต่างได้ 

             แต่สำหรับแมวจะแตกต่างจากสุนัข เพราะเมื่อมันอายุมากขึ้น มันก็จะเริ่้มกินยากมากขึ้น เพราะประสาทรับรสมันจะน้อยลง มันจะเริ่มจุกจิกกับการกินอาหารมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ได้มีการผลิตอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงสูงวัยมากขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่ย่อยง่ายและทำให้อ้วนน้อย และผลิตขึ้นมาโดยมีโปรตีนพิเศษที่มีผลต่อไตน้อยที่สุด

             อย่างไรก็ดี อาหารเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อสัตว์เลี้ยงสูงวัยก็จริง แต่ก็ใช่ที่จะเหมาะกับสัตว์เลี้ยงทุกตัว เพราะแต่ละตัวก็มีการใช้พลังงานไม่เท่ากัน ถ้าคุณคิดว่า แมวหรือหมาของคุณเป็นจำพวกชอบไม่อยู่นิ่งละก็ คุณก็ต้องให้อาหารที่มีโปรตีนค่อนข้างสูงเพื่อไปชดเชยพลังงานที่เสียไป 


เจ้าของควรทำอย่างไรบ้าง?

             สำหรับสุนัข การวัดอายุนั้นไม่เหมือนกัน โดยขึ้นอยู่กับขนาดของสุนัข สุนัขพันธุ์เล็กจะแก่เร็วกว่า แต่จะอยู่ได้นานกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ ส่วนสุนัขพันธุ์ขนาดกลาง (หนักระหว่าง 9.5 - 23 กิโลกรัม) จะถูกพิจารณาว่าแก่เมื่อมันอายุได้ 7 ปี (เท่ากับคนอายุ 47 ปี) ส่วนแมว เราไม่ได้วัดอายุที่ขนาด แต่เจ้าของจะรู้ได้ว่า หากแมวของคุณอายุเข้า 8 ปี ถือว่ามันเข้าสู่วัยแก่แล้ว





 เรามีวิธีดูแลตูบยามแก่มาฝากกัน ตามมาดูเลยค่ะ

             - ทำที่นอนของเจ้าตูบให้หนา ๆ และนุ่ม ๆ เข้าไว้ เพื่อจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดไขข้อของมันได้ 

             - ทำรั้วกั้นบันได้เอาไว้ ป้องกันไม่ให้สุนัขแก่พยายามจะขึ้นบันได ซึ่งอาจทำให้ตกบันไดได้

             - ติดไฟไว้ในที่ที่สุนัขอยู่ กรณีที่สุนัขแก่แล้วเริ่มมีปัญหาเรื่องการมองเห็น

             - ปูพรมที่ไม่ลื่นบนพื้นที่มีความแข็ง ในกรณีที่สุนัขเริ่มแสดงอาการออกมาว่ามันเริ่มเป็นโรคไขข้อ โดยสังเกตจากการเดินที่ไม่เสถียร ทำท่าจะล้มเอาให้ได้

             - เริ่มใช้นกหวีด หรือแสดงท่าทางในกรณีที่สุนัขของคุณเริ่มมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ซึ่งเมื่อคุณเรียก มันไม่ยอมมาแล้ว

             - อธิบายให้เด็ก ๆ ฟังว่า อย่าไปเสียงดังรบกวนสุนัขแก่ เพราะมันอาจก้าวร้าวขึ้นมาได้หากมีการรบกวนมันมาก ๆ 





  ต่อไปเป็นตาเจ้าเหมียวบ้าง เรามาดูวิธีดูแลเจ้าเหมียวตอนแก่กัน


              - เริ่มเปลี่ยนการให้อาหาร เปลี่ยนเป็นให้อาหารที่เหมาะกับแมวแก่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการปรึกษาสัตว์แพทย์ด้วย

             - แปรงขนแมวสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพราะแมวแก่เริ่มที่จะไม่สามารถเลียขนตัวเองได้แล้ว

             - ถ้าแมวของคุณมีปัญหาในการกระโดด พยายามอย่าให้มันกระโดดมาก โดยคุณอาจหาที่นอนเตี้ย ๆ ให้มันนอนตรงนั้น

             - ถ้าแมวแก่ของคุณเริ่มเดินโซเซ หรือเดินไม่ค่อยได้แล้ว คุณต้องจำกัดพื้นที่ให้มันอยู่ ซึ่งไม่ใช่ที่ที่มันจะกระโดดได้มาก เพราะมันอาจกระโดดไปแล้วได้รับบาดเจ็บได้

             - อธิบายให้เด็ก ๆ ฟังว่า แมวแก่ต้องการความสงบในพื้นที่ส่วนตัวของมัน ถ้ามันถูกเล่นมาก ๆ หรืออยู่ในกลุ่มคนมาก ๆ มันอาจข่วนหรือกระทั่งกัดได้






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
3 ขั้นตอนสำคัญดูแลสัตว์สูงอายุให้แข็งแรงอยู่เสมอ อัปเดตล่าสุด 5 มีนาคม 2555 เวลา 11:26:38
TOP