x close

เมื่อน้องหมามีปัญหากับการโดยสารรถ


สุนัข


เมื่อน้องหมามีปัญหากับการโดยสารรถ (Dogazine)

           ในประเทศไทยยุคปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินทางด้วยรถยนต์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปเสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิก เพราะการขนส่งสาธารณะในเมืองไทย ยังไม่เปิดกว้างสำหรับสัตว์เลี้ยงเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว กระต่าย นก ฯลฯ

           สำหรับสุนัขแล้ว การขนส่งสาธารณะบางชนิด อาทิ รถไฟฟ้า รถตู้ และรถโดยสารประจำทาง ต่างก็ไม่อนุญาตให้ผู้เลี้ยงนำสุนัขโดยสารไปด้วยได้ ทว่าแม้การขนส่งสาธารณะที่ไม่มีการห้ามอย่างเป็นรูปธรรม เช่น แท็กซี่ ก็ยังไม่พึงพอใจนัก หากผู้โดยสารต้องการให้สุนัขคู่ใจโดยสารไปพร้อมกัน จนบางรายอาจถึงขั้นปฏิเสธรับผู้โดยสารขึ้นรถเลยก็เป็นได้ เนื่องจากความรังเกียจ ไม่ชอบ และไม่สะดวกต่อการดูแลความสะอาดนั่นเอง

           ด้วยเหตุนี้ ผู้เลี้ยงสุนัขส่วนใหญ่ จึงมักจะมีรถยนต์ส่วนตัวไว้ใช้สอย ทั้งในเรื่องส่วนตัว และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุนัขแสนรัก อาทิ การพาไปพบสัตวแพทย์ พาไปเที่ยวเล่น และออกกำลังกาย เป็นต้น ทว่าปัญหาที่ตามมาก็คือ สุนัขบางตัวไม่คุ้นชินกับการโดยสารรถยนต์ จนเกิดอาการเมารถ อยากอาเจียน หรือในบางตัว อาจรู้สึกกระวนกระวายใจ เนื่องจากความกลัวและความไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น จนทำให้สุนัขเป็นทุกข์อย่างมาก

           ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มียา Dramamine ซึ่งใช้ในการแก้อาการเมารถของสุนัข แต่เป็นยาที่ต้องได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์ จึงไม่สะดวกเท่าที่ควร อีกทั้งยังไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของสุนัข อันเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากยิ่งกว่าอีกด้วย ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดผลดีกับทั้งตัวสุนัขและผู้เลี้ยงเอง โดยให้ผู้เลี้ยงปฏิบัติดังต่อไปนี้


สุนัข


           1. ฝึกให้สุนัขเกิดความคุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมในรถ โดยนำสุนัขไว้ในรถแล้วพูดคุยกับมัน แต่ยังไม่ต้องสตาร์ทรถหรือเคลื่อนรถแต่อย่างใด เพื่อให้มันได้รับประสบการณ์ที่ดี ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงต้องหมั่นทำเช่นนี้เป็นประจำในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย

            2. ฝึกให้สุนัขเกิดความคุ้นชินกับรถขณะติดเครื่อง โดยให้ผู้เลี้ยงปฏิบัติเหมือนข้อแนะนำในข้อแรก จากนั้นจึงติดเครื่องยนต์ แต่ยังไม่ต้องขับเคลื่อน ถ้าหากสุนัขแสดงอาการวิตกกังวล ให้ผู้เลี้ยงพยายามพูดคุยกับมัน เพื่อให้มันแน่ใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยและเป็นปกติดี ผู้เลี้ยงอาจต้องให้เวลากับมันและทำให้มันผ่อนคลายจากความตึงเครียด

            3. ฝึกให้สุนัขเกิดความคุ้นชินกับรถขณะขับเคลื่อน โดยเมื่อสุนัขคุ้นเคยกับรถที่ติดเครื่องยนต์แล้ว ให้ผู้เลี้ยงค่อย ๆ ถอยรถไปด้านหลัง และขับกลับมาด้านหน้าอย่างช้รา ๆ จากนั้นจึงหยุด และชมเชยกัน ซึ่งสิ่งที่คุณทำนี้ จะทำให้มันมั่นใจว่า รถไม่เป็นปัญหาสำหรับมัน โดยให้ทำเช่นนี้จนกว่าจะมั่นใจว่าสุนัขสามารถอยู่ในรถที่เคลื่อนที่ได้อย่างปกติสุข

           4. ขั้นตอนสุดท้าย เมื่อต้องให้สุนัขเดินทางโดยการโดยสารรถยนต์ ผู้เลี้ยงจะต้องให้คำชมเชยทั้งก่อนและหลังการเดินทางทุกครั้ง ซึ่งในช่วงแรกให้เริ่มจากการเดินทางระยะสั้น ๆ จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มระยะทางให้มากขึ้นตามลำดับ หากทำได้เช่นนี้แล้ว สุนัขก็จะปราศจากความกลัวและความกระวนกระวายใจที่มีต่อการโดยสารรถยนต์ไปโดยปริยาย




 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อน้องหมามีปัญหากับการโดยสารรถ อัปเดตล่าสุด 30 พฤษภาคม 2554 เวลา 16:58:52 3,584 อ่าน
TOP