x close

กำจัดหมัด (เจ้าเหมียว) ให้อยู่หมัด





กำจัดหมัด ให้อยู่หมัด การควบคุมและป้องกันหมัดสำหรับเจ้าเหมียว (Cat magazine)
Cat Care เรื่อง : โรงพยาบาลสัตว์มั่นมหัคฆ์

           คุณเคยพบสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่วิ่งอยู่ภายใต้ขนนุ่ม ๆ ของเจ้าเหมียวตัวน้อยที่บ้านบ้างหรือเปล่า เจ้าสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วตัวนี้ กินเลือดจากเจ้าเหมียว และยังสร้างความเจ็บปวดคันยุบยิบน่ารำคาญ หลายคนที่เคยเจอคงร้องอ๋อ เพราะนี่คือ "หมัด (flea)" ที่ยังสร้างปัญหาให้กันแมวและเจ้าของแมวอยู่เสมอ

           ไม่เพียงแต่เป็นปรสิตจอมกระหายเลือดเท่านั้น มันยังสามารถกระโดดไปซุกซ่อนตัวอยู่ภายใต้พรมนุ่มภายในบ้านของคุณได้ด้วย (คุณทราบหรือไม่ว่าหมัดสามารถกระโดดสูงถึง 33 เซนติเมตร ได้ในครั้งเดียว) แต่ปัญหาหมัดก็สามารถจัดการให้อยู่หมัดได้ไม่ยากอย่างที่คิด

           หมัดที่เป็นปรสิตบน แมว สุนัข และมนุษย์ คือ Ctenocephalides felis ถ้าคุณสังเกตพบอาการคันในแมวที่คุณเลี้ยง แต่ไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากหมัดหรือไม่ ก็ลองใช้หวีที่มีซี่ถี่ ๆ หรือหวีเสนียด หวีขนแมวดู หากพบว่ามีก้อนเล็ก ๆ สีดำติดหวี หรือตกลงมาที่พื้น เมื่อเอาก้อนนี้ไปวางไว้บนกระดาษชำระที่ซับน้ำให้เปียกแล้วเกิดสีแดงเรื่อ ๆ ซึมออกมาแสดงว่าก้อนนั้นคือ "ขี้หมัด" โดยสีแดงที่ซึมออกมานั้นก็คือเลือดที่หมัดกินจากตัวเจ้าเหมียวไปนั่นเอง หากเราหวีขนแมวแล้วพบขี้หมัด ก็เป็นตัวบ่งชี้ว่ามีหมัดบนตัวแมว จึงต้องเริ่มควบคุมและกำจัดหมัดที่มีบนตัวเจ้าเหมียวได้แล้ว

           หมัด ไม่เพียงแต่จะทำให้แมวคันและทำให้เกิดการระคายเคืองเท่านั้น แต่มันยังเป็นพาหะนำโรคและพยาธิที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาสู่สัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของคุณอีกด้วย

โรคที่เกิดจากหมัด

           โลหิตจาง แมวที่มีหมัดเป็นจำนวนมากในร่างกายอาจเกิดภาวะโลหิตจางได้ เนื่องจากการสูญเสียเลือดจากการดูดกินของหมัด ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในลูกแมว สังเกตอาการได้จากสีเหงือกจะซีด ซึ่งเจ้าของควรสังเกตสีเหงือกเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราพบว่ามีหมัดอยู่บนตัวลูกแมว

           พยาธิตัวตืด ลูกแมวที่พบว่ามีหมัดอยู่บนตัวควรทำการรักษาและดูแลเรื่องพยาธิควบคู่ไปด้วย

           โรค Haemobartonellosis สาเหตุการเกิดโลหิตจางในแมวอีกหนึ่งสาเหตุมาจากไมโครออร์กานิซึมที่มีหมัดเป็นพาหะ นั่นคือ H.felis ในแมว สามารถตรวจโรค Haemobartonellosis ได้จากการส่งเลือดแมวที่สงสัยว่าจะป่วยไปยังห้องปฏิบัติการ และให้การรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ ยากลุ่มสเตียรอยด์ ในกรณีที่ป่วยหนักอาจต้องทำการถ่ายเลือดเพื่อรักษาชีวิต

วงจรชีวิตของหมัด

           จะว่าไปแล้ววงจรชีวิตของหมัดไม่ต่างอะไรกับวงจรชีวิตของผีเสื้อเลย ต่างกันอยู่ที่ผีเสื้อเป็นมิตรกับดอกไม้และสิ่งมีชีวิตรายรอบ แต่หมัดที่โตเต็มวัยนั้นเหมือนว่าจะเลือกเป็นศัตรูที่คอยทำร้ายสิ่งมีชีวิตรอบๆ ตัวไปเสียหมด

           1. ไข่หมัด จะออกไข่บนตัวโฮสต์ที่มันไปอาศัยอยู่ และจะอาศัยอยู่จนครบวงจรชีวิต ส่วนไข่ฟองอื่นๆ ก็จะตกลงบนสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบๆ เช่น บนพรม ที่นอนเจ้าเหมียว หรือแม้กระทั่งที่นอนของคุณเอง

           2. ตัวอ่อน หลังจากที่ฟักออกจากไข่แล้วตัวอ่อนจะกินขี้หมัดจากตัวเต็มวัย แล้วพัฒนาตัวต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์

           3. ดักแด้ เช่นเดียวกับในผีเสื้อ ดักแด้จะสร้างสิ่งห่อหุ้มตัวเอง และเตรียมพัฒนาต่อไปเป็นตัวเต็มวัย

           4. ตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยจะหากินบนตัวโฮสต์ที่ไปอาศัยอยู่มีการผสมพันธุ์ และเริ่มวงจรชีวิตใหม่อีกครั้ง

การกำจัดหมัด

           วิธีกำจัดหมัดในขั้นแรก ในกรณีที่มีหมัดบนตัวเป็นจำนวนมาก ให้หวีขนแมวและอาบน้ำด้วย แชมพูสำหรับกำจัดหมัด เมื่อลดจำนวนหมัดบนตัวได้แล้ว ให้ใช้วิธีป้องกันด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับควบคุมหมัด

           การหวี ใช้หวีซี่ถี่ ๆ หรือหวีเสนียด หวีให้ทั่วทั้งตัวแมว เตรียมชามหรือโถที่ใส่แอลกอฮอล์หรือสารซักฟอกไว้ เมื่อหวีแล้วให้สลัดหวีใส่ในชามหรือโถที่เตรียมไว้

           การอาบน้ำ จะช่วยกำจัดเศษขี้หมัด และตัวหมัดที่ยังเหลืออยู่บนตัว โดยใช้แชมพูสำหรับกำจัดหมัด หรือน้ำยาจุ่มสำหรับกำจัดหมัด

           ผลิตภัณฑ์สำหรับกำจัดหมัด ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำหรับกำจัดหมัดอยู่หลายชนิด โดยการหยดหลัง การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อใช้ผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้อง

           หากทำการควบคุมหมัดตามโปรแกรมอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถควบคุมและกำจัดหมัดให้หมดไปได้ เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งแมวและเจ้าของเอง






ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กำจัดหมัด (เจ้าเหมียว) ให้อยู่หมัด อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2554 เวลา 15:15:21 42,300 อ่าน
TOP