x close

คุมไม่อยู่ ปลาซัคเกอร์ ประมงแนะจับกิน!



คุมไม่อยู่ ซัคเกอร์ประมงแนะจับกิน ขอประเมินก่อนงัดใช้กฎหมายครอบครองปลามหาภัยมีผิด (ไทยโพสต์)

         กรมประมงยังไม่ออกประกาศควบคุมปลาซัคเกอร์ ห้ามครอบครองหรือปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ฝ่าฝืนมีความผิด ชี้ต้องประเมินสถานการณ์ถึงขั้นรุนแรงหรือไม่ พร้อมจัดโครงการแลกเปลี่ยนปลาซัคเกอร์กับปลาสวยงาม

         จากกรณีปัญหาปลาซัคเกอร์ หรือปลากดเกราะ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ได้รุกรานสัตว์น้ำพื้นเมืองตามแหล่งน้ำในธรรมชาติ นางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงการแก้ปัญหาว่า ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนปลาซัคเกอร์กับปลาสวยงามน้ำจืดหรือปลาเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่ขณะนี้ถึง 30 กันยายน 2554 เพื่อรณรงค์ไม่ให้ประชาชนปล่อยปลาซัคเกอร์ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ป้องกันการแพร่กระจายสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และเชิญชวนให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์หลายรูปแบบของปลาซัคเกอร์ เช่น นำมาแปรรูปเพื่อบริโภค ทำเป็นอาหารสัตว์ และทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ การควบคุมปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องออกกฎระเบียบกำกับดูแลการนำเข้า-ส่งออกอย่างเคร่งครัด และกำหนดแนวทางแก้ปัญหาอันเกิดจากสัตว์น้ำต่างถิ่นที่นำเข้ามาแล้วด้วย

         อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า มาตรการสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนคือ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนได้ทราบถึงอันตรายของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย อีกทั้งการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนปล่อยสัตว์น้ำที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนการส่งเสริมให้หน่วยงานในสังกัดกรมประมงทั่วประเทศจัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนที่มีสัตว์น้ำต่างถิ่นที่เลี้ยงไว้หรือที่จับได้และไม่ต้องการเลี้ยงต่อ ให้นำมาแลกพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยที่กรมประมงเพาะเลี้ยงไว้ ที่ผ่านมามีประชาชนให้ความร่วมมือระดับหนึ่ง

         "โครงการแลกเปลี่ยนปลาซัคเกอร์กับปลาสวยงามน้ำจืดหรือปลาเศรษฐกิจ อาจจะไม่ช่วยลดประชากรปลาซัคเกอร์ได้มากนัก แต่สิ่งสำคัญคือทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักต่อปัญหาและอันตรายของสัตว์น้ำต่างถิ่น โดยต้องอาศัยระยะเวลาและความต่อเนื่องในการย้ำเตือนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และย้อนกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้กับสัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยในอนาคต" นางสมหญิงกล่าว

         นางสมหญิงกล่าวอีกว่า ในส่วนมาตรการทางกฎหมายที่บังคับใช้กับปลาซัคเกอร์นั้น ขณะนี้ห้ามนำเข้ามาภายในประเทศ แต่ถ้าควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ไม่ได้จนถึงกับว่ามีปลาซัคเกอร์เต็มแม่น้ำลำคลอง และเป็นภัยคุกคามสัตว์น้ำพื้นถิ่นอย่างรุนแรง ก็สามารถที่จะประกาศควบคุมห้ามครอบครองและห้ามปล่อยปลาซัคเกอร์ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อลงโทษผู้ฝ่าฝืน โดยประกาศเพิ่มเติมในกฎหมายประมงเช่นเดียวกับการประกาศควบคุมปลาปิรันยา แต่ทั้งนี้จะต้องศึกษาวิจัยให้รอบคอบก่อนว่ามีความจำเป็นหรือไม่

         นายโยธิน เทอดวงศ์วรกุล นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์ปลาซัคเกอร์ ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ในการนำมาบริโภค พบว่าเนื้อปลาซัคเกอร์มีโปรตีนสูง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค รสชาติอร่อย เพราะเป็นปลาเนื้อขาวที่จัดอยู่ในกลุ่มตลาดปลาเนื้อขาวราคาสูง แต่เป็นปลาที่มีเนื้อน้อยและผู้คนไม่ค่อยนิยมบริโภค จึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ปลาซัคเกอร์ได้หลายรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องเพาะเลี้ยง แต่สามารถจับได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุมไม่อยู่ ปลาซัคเกอร์ ประมงแนะจับกิน! อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2553 เวลา 16:58:10 6,298 อ่าน
TOP