x close

การดูแลสุนัขวัยชรา





การดูแลสุนัขวัยชรา (Dogazine)
เรื่องโดย หมอเพนกวิน

          เมื่อเวลาผ่านไป ชีวิตก็เปลี่ยนไป เราไม่สามารถหยุดยั้งกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงได้ และที่แน่นอนที่สุด คือ เราไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ตลอดกาล สุนัขของเราก็เช่นกัน เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายก็ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมลง นิสัยและพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่อาจแก้ไขพฤติกรรมเหล่านั้นได้ ดังนั้น เจ้าของจำเป็นต้องทำความเข้าใจและที่สำคัญคือ ต้องเพิ่มการดูแลเอาใจสุนัขที่กำลังย่างเข้าสู่วัยชราหรือสุนัขวัยชราให้มากขึ้น เพื่อให้เจ้าตูบสามารถมีชีวิตบั้นปลายที่ดีอยู่กับเจ้านายอันเป็นที่รัก

โรคสมองเสื่อมในสุนัข

          การสูญเสียความทรงจำและอาการสับสนในสุนัขสูงอายุ อาจเป็นลักษณะของโลกสมองเสื่อม คือ จะมีอาการสับสน ลดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เห่าโดยไม่มีสาเหตุ นอนไม่หลับ หรือนอนมากขึ้นในช่วงกลางวัน ตื่นตอนดึก หลงทางในบ้านตัวเอง และขับถ่ายเลอะเทอะ ซึ่งการขับถ่ายเลอะเทอะในสุนัขสูงวัย อาจมาจาการหลงลืม หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพ

          ดังนั้น เมื่อสุนัขของคุณย่างเข้าสู่วัยชรา ขอแนะนำว่าให้นำสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยละเอียด เพราะเมื่อสุนัขเข้าสู่วัยชราแล้ว สุนัขจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพบ่อยครั้งขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยีทางสัตวแพทย์ก้าวหน้าไปมาก จึงสามารถทำการทดสอบทางร่างกายเฉพาะด้าน เช่น การทำอัลตร้าซาวนด์ ถ่ายภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือซีทีแสกน เพื่อช่วยตรวจดูอวัยวะภายในร่างกายที่สำคัญ ๆ ได้

          นอกจากนี้ ยังมีหลายสิ่งที่เราพอจะช่วยให้สุนัขที่น่ารักของเรามีสุขภาพและใจที่ดีในช่วงบั้นปลายชีวิตได้ เช่น

          การเสริมสร้างการใช้คำสั่งพื้นฐาน และเพิ่มเติมคำสั่งใหม่ ๆ การทำเช่นนี้ จะช่วยให้จิตใจของสุนัขตื่นตัว เช่น บอกให้ยกมือสัวสดีก่อนให้ขนมหรืออาหาร บอกให้สุนัขนั่งก่อนพาออกไปเดินเล่นนอกบ้าน

          ใช้เวลาเดินเล่นสั้นลงแต่บ่อยขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเพิ่มออกซิเจนที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งจะไปช่วยส่งเสริมความสามารถทางจิตใจของสุนัข และทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น แต่ควรพาสุนัขเดินบนพื้นราบเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับข้อและกระดูก และเพิ่มความหลากหลายในเส้นทางเดินเพื่อกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกจากการพาสุนัขไปพบสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ

          การกระตุ้นให้สุนัขยืดเส้นยืดสายก่อนการเล่น หรือการเดิน ควรให้สุนัขได้ยืดและย่อตัว (โก้งโค้ง) เพื่อเหยียดแข้งเหยียดขา นั่นคือ ก้มหัวต่ำ และเหยียดไปข้างหน้า แต่ก้นนั้นยกสูง ซึ่งเป็นท่าชวนเล่นของสุนัขนั่นเอง วิธีทำคือ ให้ยื่นขนมล่อตรงบริเวณต่ำกว่าจมูกของสุนัข การเหยียดแข้งเหยียดขาเช่นนี้ จะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี เป็นการอบอุ่นกล้ามเนื้อ หลังจากการเดินหรืออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมใด ควรจับสุนัขยืดขา และนวดตามร่างกาย

          การกระตุ้นด้านจิตใจของสุนัข ให้ทำเป็นประจำเป็นกิจวัตร เช่น เล่นเกมซ่อนหา ซ่อนขนมไว้ตามที่ต่าง ๆ ในบ้าน หรือซ่อนขนมไว้ในของเล่น

          บันทึกอาการทั้งหมดของสุนัข เราต้องสังเกตพฤติกรรมและอาการต่าง ๆ ของสุนัขก่อน พาไปพบสัตวแพทย์ เช่น สุนัขลืมชื่อ ลืมทักทายเรา เดินหนีเราไป ความอยากอาหารลดลง ขับถ่ายผิดปกติ เป็นต้น

          ให้เตรียมน้ำไว้มาก ๆ เมื่อสุนัขอายุมากขึ้น ก็มักจะกินน้ำน้อยลง มีความเสี่ยงต่อภาวะแห้งน้ำ ให้เพิ่มชามใส่น้ำอีกสองถึงสามจุดไว้รอบบ้าน และสังเกตระดับน้ำในชามทั้งตอนเช้าและตอนกลางคืน เพื่อให้มั่นใจว่าสุนัขกินน้ำมากพอ อย่าลืมเช็ดน้ำที่หกออกมาให้หมดเพื่อป้องกันสุนัขลื่นล้ม

          เห็นไหมล่ะคะว่า นอกเหนือจากการพาสุนัขของเราไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำแล้ว เราเองก็สามารถช่วยให้สุนัขแสนรักของเรามีความสุข และมีสุขภาพที่ดีในบั้นปลายชีวิตได้ ด้วยความเอาใจใส่ของเราในแบบง่าย ๆ ค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การดูแลสุนัขวัยชรา อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2553 เวลา 13:19:11
TOP