x close

ปลากัด

 


ปลากัดไทย (Siam Fighting Fish)


ชื่อสามัญ       Siamese Fighting Fish
ถิ่นกำเนิด       เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะ        ลำตัวเพรียวยาวและแบนข้าง เกล็ดเล็กละเอียด ครีบและลำตัวมีสีแตกต่างกับออกไป ตัวผู้จะสวยงามและมีสีสดกว่าตัวเมีย
ขนาด           เฉลี่ย 6 ซม.
นิสัย             ก้าวร้าวดุร้ายมาก
อาหาร          กินอาหารทุกชนิด
การแพร่พันธุ์    วางไข่โดยก่อหวอดลอยอยู่ตามผิวน้ำ

          ปลากัดเป็นปลาพื้นเมืองของไทย อาศัยอยู่ตาม หนอง - คลอง - บึง และตามทุ่งนา ปลากัด เราสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ปลากัดหม้อ ปลาป่า ปลากัดจีน

         ปลากัดหม้อ เป็นปลาที่ตัวโต หัวโต ปากใหญ่ และตัวใหญ่ และสามารถกัดได้ทรหดยิ่งกว่าพันธุ์อื่นๆ

         ปลากัดป่า เป็นปลาที่ตัวเล็กกว่าพันธุ์อื่นๆ ลักษณะตัวค่อนข้างยาว ว่องไว แต่กัดไม่ทน

         ปลากัดจีน เป็นปลาที่ได้นำมาพัฒนาสายพันธุ์ จนได้ปลาที่มีความสวยงามมาก เป็นปลาที่มีลำตัวโต ครีบและหางยาว สีสันสวยและมีสีหลากหลายกว่าพันธุ์อื่นๆ

          ปลากัดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens และมีชื่อสามัญว่า Siamese Fighting Fish เป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่นิยมเพาะเลี้ยงเป็นเวลานานแล้ว ทั้งนี้เพื่อไว้ดูเล่นและเพื่อกีฬากัดปลา และเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศมานานเช่นกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลากัดกันแพร่หลาย เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ง่าย จึงเหมาะสมสำหรับผู้ที่หัดเริ่มเลี้ยงปลา ต้องการดูแลเอาใจใส่ไม่มากนักและไม่จำเป็นที่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยมาก เนื่องจากมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษที่เรียกว่า labyrinth โดยทำให้สามารถดึงออกซิเจนจากอากาศได้ในธรรมชาติ แล้วพบได้ทั่วไปในน้ำที่นิ่ง หรือน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ นอกจากนั้นพบในนาข้าว และกระจายทั่วไปในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลากัดเลี้ยงมีอายุเฉลี่ย 2 ปีหรือน้อยกว่า

           ปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ มีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว มีลายตามตัว ครีบ และหางสั้น ปลาเพศผู้มีครีบและหางยาวกว่าเพศเมียเล็กน้อย จากการเพาะพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์ติดต่อกันมานาน ทำให้ได้ปลากัดที่มีสีสวยงามหลายสี อีกทั้งลักษณะครีบก็แผ่กว้างใหญ่สวยงามกว่าพันธุ์ดั้งเดิมมาก และจากสาเหตุนี้ทำให้มีการจำแนกพันธุ์ปลากัดออกไปได้เป็นหลายชนิด เช่น ปลากัดหม้อ ปลากัดทุ่ง ปลากัดจีน ปลากัดเขมร เป็นต้น การแพร่กระจายของปลากัดพบทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย อาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หนอง บึง แอ่งน้ำ ลำคลองฯลฯ

          ในการเลี้ยงปลากัดเพื่อการต่อสู้ มีการคัดเลือกพันธุ์ให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถใช้ในการต่อสู้ โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเรียกกันว่า "กัดป่า หรือ กัดทุ่ง" โดยมีลำตัวค่อนข้างเล็กบอบบาง สีน้ำตาลขุ่น หรือเทาแกมเขียว มีการนำมาเพาะเลี้ยงและคัดพันธุ์หลายชั่วอายุ จนได้ปลาที่มีรูปร่างแข็งแรง ลำตัวหนาและใหญ่ขึ้นเพื่อใช้ในกีฬากัดปลา ซึ่งนิยมเรียกปลากัดชนิดนี้ว่า "กัดเก่ง"

          นอกจากนั้นปลากัดไทยนี้ยังได้มีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้มีสีสันสวยสด มีผู้เลี้ยงปลากัดหลายรายได้มีการพัฒนาปลากัดที่ได้จากการคัดพันธุ์และผสมข้ามพันธุ์ปลากัด โดยเน้นความสวยงามเพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่น โดยคัดพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาที่มีครีบยาว สีสวย ซึ่งนิยมเรียกปลากัดลักษณะเช่นนี้ว่า ปลากัดจีน หรือ ปลากัดเขมร ซึ่งต่างประเทศรู้จัดปลากัดในนาม Siamese fighting fish

           ในปัจจุบัน การพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดกำลังเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงาม แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ปัจจุบันนี้ปลากัดมีสีสันสวยงามมากตั้งแต่สีเหลืองทั้งตัว สีฟ้า Half moon มีเรื่องอ้างอิงกันมาถึงการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัด โดยใช้สภาพแวดล้อมเป็นตัวเหนี่ยวนำ ด้วยมีความเชื่อว่าปลาที่มีสีสันสวยงามต่าง ๆ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการถ่ายทอดความรู้สึกของเพศเมียไปยังลูกปลา ได้มีการนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ในบรรดานักเพาะปลาทั้งหลาย โดยการวาดรูปปลากัดที่มีสีสรรตามที่ต้องการ เช่น สีเหลืองทั้งตัว ตั้งวางโดยรอบปลาเพศเมียในระหว่างที่ทำการเทียบคู่นั้น วิธีการนี้เรียกว่า Pseudo-breeding technique ถึงแม้ว่าจะไม่มีการพิสูจน์ออกมาทางวิชาการ แต่ก็ได้รับการยืนยันจากนักเพาะเลี้ยงทั้งหลายว่า พบว่าคอกหนึ่ง ๆ ที่ได้ลูกปลาออกมานั้นจะมี 1 - 2 ตัวที่มีลักษณะเหมือนกับภาพที่วาดไว้ สีสันความงามของปลากัดสามารถแบ่งออกเป็นแบบต่าง ๆ ดังนี้

          สีเดียว (Solid Colored Betta) เป็นสีเดียวทั้งครีบและตัว
          สีผสม (Bi-colored Betta) ส่วนใหญ่จะมี 2 สีผสมกัน
          สีผสมเขมร (Cambodia Colored Betta)
          ลายผีเสื้อ (Butterfly Colored Betta)
          ลายผีเสื้อเขมร (Combodian Butterfly Colored Betta)
          ลายหินอ่อน (Marble Colored Betta)

รูปแบบของปลากัดไทยยังมีการแบ่งออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

          รูปทรงปลาช่อน มีลำตัวยาวและหัวเหมือนปลาช่อน หัวใหญ่กว่าท้องเมื่อมองจากด้านบน รูปร่างเพรียว
          รูปแบบปลาหมอ ตัวจะสั้นและค่อนข้างอ้วน รูปทรงค่อนข้างกว้าง
          รูปแบบปลากราย หน้าเชิด ลำตัวตรง รูปทรงค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม มองด้านบนจะเห็นว่ารูปทรงผอมบาง มีครีบอกและครีบก้นยาว
          รูปแบบปลาตะเพียน เป็นลูกผสมลำตัวป้อม ครีบยาวสวยงาม




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปลากัด อัปเดตล่าสุด 28 สิงหาคม 2552 เวลา 23:00:49 24,643 อ่าน
TOP