x close

ตุ๊กแกตาหวาน น็อบ เทล เก๊คโค สัตว์แปลกแอ๊บแบ๊ว !?





ตุ๊กแกตาหวาน "น็อบ เทล เก๊คโค" สัตว์แปลกแอ๊บแบ๊ว !? (เทคโยโลยีชาวบ้าน)

โดย อุราณี ทับทอง
คอลัมน์ เทคโนฯ สัตว์เลี้ยง

          หากมองผ่านรูปร่างภายนอกอันน่าขนลุกของสัตว์ที่มีชื่อว่า "ตุ๊กแก" ... แต่หันมามองที่ความสามารถทางธรรมชาติของมันแทน จะพบว่าคุณสมบัติของตุ๊กแกนั้นไม่มีอะไรน่าอัศจรรย์ไปกว่าความสามารถในการเกาะไต่ผนังและเพดานได้อย่างเหนียวแน่น

          มันทำได้อย่างไร?...ความรู้ที่ได้จากคำถามนี้ก็คือ ผลการวิจัยจากนักสัตวศาสตร์พบว่า ทุกพื้นที่บนฝ่าเท้าของตุ๊กแกมีเส้นขนอยู่มากกว่า 1,000 เส้น และบริเวณส่วนปลายของแต่ละเส้น ยังแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอีกมากกว่า 1,000 แฉก ซึ่งแต่ละแฉกมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 200 นาโนเมตร ซึ่งมีลักษณะเป็นปลายแหลมเล็ก มีความยาวเพียง 100 ไมโครเมตร หรือราวความกว้างของเส้นผมพวกเราเท่านั้น

          ขนดังกล่าวเรียกว่า "เซต้า" ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการยึดเกาะ และเป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์เข้าใจว่าตีนตุ๊กแกเหนียวหนึบสุดๆ หากมันตกลงมาเกาะแขน เกาะขาเราละก็ต้องรอให้ฟ้าผ่าหรือต้องทำตามความเชื่อของคนโบราณหลากวิธี

          แต่เรื่องของธรรมชาติก็มีความจริงอีกว่า ตุ๊กแก ไม่ใช่สัตว์อัศจรรย์เช่นนั้นเสมอไป เพราะมีตุ๊กแกบางชนิดไม่สามารถหากินบนที่สูงเช่นเดียวกับตุ๊กแกที่คนไทยคุ้น เคย มันไม่สามารถเกาะผนังและเดินไปมาตามเพดาน แต่ทำได้เพียงคืบคลานอยู่ตามพื้นดินหรือพื้นทราย ซึ่งเป็นความต่างตามแหล่งกำเนิด

          และตุ๊กแกบางชนิดก็ไม่ได้มีรูปร่างน่าขนลุกเสมอไป (แล้ว แต่วิจารณญาณส่วนบุคคล) เพราะมีสีสันสวยงาม หางสั้น ตัวเล็ก ตากลมโต จนกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้คนรักสัตว์บางกลุ่มคนนิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงภาย ในบ้าน

          หนึ่งในชนิดตุ๊กแกดังกล่าว คือ "น็อบ เทล เก๊คโค" (Knob - Tail Gecko) สัตว์เลื้อยคลานตัวน้อย ที่ได้รับความนิยมในประเทศสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และปัจจุบันกำลังเข้าสู่วงการสัตว์เลี้ยงประเภทสัตว์แปลกเมืองไทยแล้วเช่นกัน โดยมีชื่อเรียกน่ารักๆ ภาษาไทยว่า "ตุ๊กแกตาหวาน"

          คุณธนกมล ขำวัฒนพันธุ์ หรือคุณส้ม คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในสัตว์เลี้ยงพิเศษ ประเภทสัตว์เลื้อยคลาน เปิดเผยว่า เจ้าตุ๊กแกตาหวานชนิดนี้เริ่มเข้ามาซื้อขายในเมืองไทยตั้งแต่ปลายปี 2549 แต่มีราคาจำหน่ายสูงมากถึงคู่ละ 50,000 บาท แต่เมื่อทางสหรัฐอเมริกาและไต้หวันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้มากขึ้น ราคาจึงเริ่มปรับลดลง ส่งผลให้กลายเป็นสัตว์แปลกอีกชนิดที่น่าทำความรู้จัก

          "ตุ๊กแกตาหวาน เป็นสัตว์ต่างถิ่นจากทะเลทรายซาฮาร่า มีที่มาที่เดียวกันกับกิ้งก่าเบี๊ยดดรากอน หรือพวกกิ้งก่าทะเลทราย แต่ น็อบ-เทลฯ พวกนี้เป็นสัตว์ตระกูลตุ๊กแก ซึ่งเฉพาะตุ๊กแกชนิดนี้ก็มีอีกหลายสายพันธุ์หลายแบบมาก ต่อปีจะมีการนำเข้าประมาณ 2 ครั้ง เท่านั้น แล้วก็มีนำเข้าจำนวนน้อยประมาณ 15 ตัว ต่อปี แต่ก็ถือว่าราคาซื้อขายทุกวันนี้ยังสูงอยู่ ตัวละประมาณ 12,000 บาท"

          ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง มากกว่าซื้อสุนัขสักตัว ประกอบกับเป็นสัตว์ต่างถิ่นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการดูแล ผู้นิยมเลี้ยงตุ๊กแกตาหวานจึงยังไม่มีการขยายกว้างมากนัก โดยหลักแล้วมีผู้นิยมเพียงกลุ่มเดียว ก็คือ ผู้ที่กระเป๋าหนัก มีรสนิยมชอบสัตว์แปลก และไม่อยากเลี้ยงซ้ำใคร เพราะตุ๊กแกบางชนิดมีราคาอยู่ที่หลักร้อยถึงหลักพัน ต่ำกว่าตุ๊กแกตาหวานชนิดนี้มาก อีกทั้งเป็นตุ๊กแกขนาดเล็ก มีความยาวจากหัวจรดหางเมื่อโตเต็มที่เพียง 4-6 นิ้ว ผู้ซื้อไปเลี้ยงก็ต้องคิดหนัก แต่หากมองเรื่องรูปร่างลักษณะภายนอกแล้วประทับใจ ก็ต้องยอมควัก ยอมศึกษา เพราะเจ้าตาโตตัวนี้นับว่าเป็นตุ๊กแกที่มีเสน่ห์ดึงดูดเฉพาะตัวไม่เบา

          "ลักษณะพิเศษของตุ๊กแกตาหวาน นอกจากไม่ปีนป่ายก็คือ เป็นตุ๊กแกที่มีหางขนาดสั้น เมื่อถึงเวลากิน หางเขาจะส่าย ดิ๊กๆ ๆ ๆ ก่อนกิน เหมือนเวลาล่าเหยื่อ จะส่ายหางไปมา เวลาเล็งก็ส่ายหางไปมา น่ารัก คือบางคนมองว่าเป็นตุ๊กแก ไม่น่ารักเลย โดยนิสัยส่วนตัว ตุ๊กแกชนิดนี้เป็นตุ๊กแกที่ร่าเริง โดยเฉพาะตอนกลางคืน จะตื่นตัวตลอดเวลาตามสัญชาตญาณ แล้วก็เชื่อง ถ้าคุ้นเคยกับคนเลี้ยงแล้วมันก็จะเดินขึ้นมือไต่แขนเลย แต่ถ้าตกจากที่สูงจะเป็นอันตราย เพราะไม่มีลักษณะพิเศษเหมือนจิ้งจกหรือตุ๊กแกชนิดอื่นๆ ผู้เลี้ยงก็ต้องระวัง" คุณส้มบอก

          ดังนั้น การเลี้ยงดูตุ๊กแกตาหวานด้วยการนำมันมาคลอเคลียให้ไต่ไปไต่มาอยู่บนตัว คงจะเป็นเรื่องเสี่ยงสักหน่อย วิธีการเลี้ยงที่เหมาะควรก็คือ ให้ตุ๊กแกอยู่ในตู้เลี้ยงที่จัดเป็นสัดส่วน หากเลี้ยงภายในบ้านและไม่มีสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่หมายจะทำร้ายตุ๊กแก เช่น แมว สุนัข งู นก หนู ก็สามารถเลี้ยงในตู้แบบเปิดโล่งด้านบนก็ได้ ไม่ต้องกลัวเจ้าตุ๊กแกชนิดนี้ปีนหนีหายไป

          "ตุ๊กแกตาหวานเลี้ยงง่าย ไม่ต้องปิดฝากรงหรือตู้ก็ได้ เพราะตุ๊กแกชนิดนี้เป็นตุ๊กแกที่ไม่สามารถปีนผนังได้อยู่แล้ว เวลาจัดตู้ก็สามารถจัดตู้เป็นแบบสวยงาม รองพื้นด้วยทราย มีโขดหินประดับ ถ้านำไปเลี้ยงควรจะมีตู้กระจกสักใบ หากเลี้ยงตัวเดียวใช้ตู้ขนาด 12 นิ้ว หากเลี้ยงเป็นคู่ก็ควรใช้ตู้ประมาณ 24 นิ้ว แต่ส่วนใหญ่จะแยกเลี้ยงเดี่ยวมากกว่า เพราะถ้าไม่ถึงช่วงผสมพันธุ์จริงๆ ตุ๊กแกจะกัดกัน โดยเฉพาะถ้าตัวเมียไม่พร้อมหรืออารมณ์ตัวผู้ไม่ดี มันก็อาจจะกัดกันเลย"

          คุณส้ม กล่าวเสริมอีกว่า ถ้าจัดตู้เลี้ยงไว้ในห้องแอร์ควรมีการจัดไฟเพื่อให้ความอบอุ่น เพราะตุ๊กแกตาหวานนับเป็นสัตว์เลื้อยคลานจากทะเลทราย ซึ่งจะต้องกักเก็บความร้อนในตอนกลางวันเพื่อนำมาใช้ตอนกลางคืนที่มีความเย็น ชื้น สัตว์เหล่านี้จึงชอบหลบอยู่ตามใต้ขอนไม้ในตอนกลางวัน กลางคืนจึงจะออกมาหากิน การจำลองตู้ให้มีลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติจึงเหมาะที่สุดในการเลี้ยง จะช่วยส่งผลให้เจ้าตุ๊กแกตาหวานร่าเริง แข็งแรง

          นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า โดยทั่วไปแล้วตุ๊กแกตาหวานชอบใช้ชีวิตโดยการขุดโพรงฝังตัวอยู่ตามพื้นทราย เพื่อเป็นที่ซ่อนตัวไว้ใช้ดักจับเหยื่อ ซึ่งเป็นแมลงขนาดเล็ก และดูเหมือนว่าจะเป็นนักขุดดินที่ยอดเยี่ยม สามารถขุดโพรงของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว เมื่อนำมาเลี้ยงในตู้จึงควรรองพื้นทรายให้หนาพอเหมาะที่จะรองรับสัญชาตญาณ เดิมของมันด้วยเช่นกัน และให้เหยื่อโปรดของมันเป็นอาหาร อย่างเช่น จิ้งหรีด หนอนนก ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก เล็กกว่าปากของตุ๊กแก

          "บางคนนำตุ๊กแกไปเลี้ยงแต่ยังไม่เข้าใจว่าต้องทำ อย่างไร อย่างเช่น การเลี้ยงด้วยจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหาร เราต้องเด็ดขาหลังจิ้งหรีดออกด้วย เพราะขาหลังของจิ้งหรีดอาจจะไปตำกระเพาะของตุ๊กแกได้ ส่วนที่เลี้ยงแล้วตุ๊กแกตายกันมาก มักมีสาเหตุหลักๆ มาจากตุ๊กแกติดเชื้อ เมื่อนำมาเลี้ยงใกล้ๆ กัน กรงติดกัน หรือเจ้าของไปจับตัวที่ติดเชื้อแล้วก็มาจับตัวอื่น ทำให้ติดเชื้อไปด้วย เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ทำให้ตุ๊กแกผอม ไม่กินอาหาร และตายไวมาก แค่สัปดาห์เดียวก็ตายเลย ซึ่งก็เท่ากับว่าเงินหมื่นก็จะหายแว่บไปเลย ผู้ที่สนใจซื้อไปเลี้ยงจึงต้องคิดหนักและทำการศึกษามาก่อนอย่างดี"

          ส่วนเจ้าตุ๊กแกตาหวานสีโทนน้ำตาลแดงที่เป็นนางแบบ นายแบบ ให้กับคอลัมน์ฉบับนี้ เป็นเพียงบางสายพันธุ์ของน็อบ เทล เก๊คโค เท่านั้น แต่ที่มีการเพาะพันธุ์ซื้อขายในปัจจุบัน โดยเฉพาะในต่างประเทศนั้นมีตุ๊กแกชนิดนี้อยู่หลากสายพันธุ์มาก แต่ละสายพันธุ์มีลักษณะพิเศษแตกต่างกันออกไป อาทิ สายพันธุ์ levis occidentalis เป็นตุ๊กแกตาหวานที่มีผิวหนังเรียบ หางยาวปานกลางแต่แบนกว้างคล้ายใบโพธิ์ สายพันธุ์ laevissimus มีผิวหนังเรียบเช่นกัน แต่หางเรียวสั้น มีโทนสีจาง แต่มีเส้นพาดสีเข้มบริเวณส่วนหัวและโคนหาง ส่วนสายพันธุ์ deleani หางเรียวเป็นปล้องถี่ยาวสมส่วน เด่นที่ริ้วยาวสีม่วงเข้มและสีขาวที่พาดสลับไปมาบนสำตัวสีน้ำตาลเข้ม

          แต่ น็อบ เทล เก๊คโค บางสายพันธุ์ก็มีรูปร่างพิเศษต่างไปทางด้านดุดันเสียมากกว่า เช่น สายพันธุ์ wheeleri cinctus ตุ๊กแกลายพาดขนาดค่อนข้างใหญ่ มีตุ่มเต็มตัว ดูแปลกแบบน่าขนลุกพอๆ กับสายพันธุ์ asper และ amyae แต่สองพันธุ์หลังนี้มีหางสั้นมาก ตุ่มที่กระจายอยู่เต็มตัวกลับเป็นตุ่มหนาม หายาก และมีราคาสูงถึงหลักแสนบาททีเดียว

          อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใด สายพันธุ์ใด เมื่อใครก็ตามสนใจนำมาเลี้ยงแล้วก็ต้องคำนึงด้วยว่า สัตว์ตัวนั้นก็มีชีวิต มีอายุไขเช่นกัน อย่างเจ้าน็อบ เทล เก๊คโค นี้ ก็มีช่วงอายุยาวนานถึง 8 ปี ถ้ารักจริง ชอบจริง ก็อย่าเพิ่งทิ้งกลางคันด้วยการปล่อยสู่ธรรมชาติ เพราะอาจทำลายระบบนิเวศน์เดิมอย่างที่สังคมกังวล

          แต่ถ้าเบื่อจริง ไม่สะดวกเลี้ยงอีกต่อไปด้วยความจำเป็น คุณส้มแนะนำว่ามอบเจ้าสัตว์ตัวนั้นให้กับร้านค้าหรือผู้ที่ต้องการนำไป เลี้ยงต่อเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

          เพราะถ้าเบื่อแล้วปล่อย...อีกหน่อยกลุ่มคนรักสัตว์แปลกก็อาจเป็นที่รังเกียจของสังคมเช่นกัน







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  Desertknowledgecrc.com.au
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตุ๊กแกตาหวาน น็อบ เทล เก๊คโค สัตว์แปลกแอ๊บแบ๊ว !? อัปเดตล่าสุด 20 สิงหาคม 2552 เวลา 17:36:10 4,796 อ่าน
TOP