x close

แมวอ้วน...มาลดพุงกันเถอะ





มาลดพุงแมวกันเถอะ (โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 โพลีคลีนิค)
โดย สพ.ญ. รัตมา โชติอภิสิทธิ์กุล

          รู้ไหมว่า แมวตัวอ้วน ๆ พุงพุ้ย เดินต้วมเตี้ยม อุ้ยอ้ายน่ารักน่าหยิกนั้น ถือเป็นปัญหาที่โน้มนำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคข้อกระดูก โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างเป็นต้น ว่าแต่ว่าแมวแบบไหนนะถึงจะเรียกว่าอ้วน!!!

          ทั้งนี้ มีการจัดกลุ่มความสมบูรณ์ของร่างกาย (Body condition score :BCS) แบ่งแมวออกเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน คือ...

          1. แมวผอมมาก สามารถมองเห็นกระดูกและซี่โครงได้ชัดเจน เอวคอดกิ่ว กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ไม่มีไขมันมาเกาะเลย

          2. แมวผอม ต้องสัมผัสหรือคลำจึงจะพบกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง มีไขมันเกาะบ้าง

          3. แมวรูปร่างดี มีไขมันเกาะตามกล้ามเนื้อพอสมควร เอวไม่คอด คลำไม่พบกระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครง ที่ชัดเจน

          4. แมวท้วม คลำพบกระดูกซี่โครงได้ยาก โคนหางมีเนื้อมาก บั้นท้ายมีกล้ามเนื้อขึ้นเต็ม

          5. แมวอ้วน ไม่สามารถคลำพบกระดูกได้เลย มีไขมันมาเกาะที่บริเวณหลังจนเป็นแผ่นกว้าง ท้องกางขยาย เต็มไปด้วยไขมัน

          แมวที่มีระดับความสมบูรณ์ตั้งแต่ 4 -5 จะถือว่าเป็นแมวอ้วน ควรรีบลดน้ำหนักก่อนที่โรคร้ายจะถามหา ซึ่งการลดน้ำหนักนั้น เราจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นไปได้ไม่หักโหมแมวจนเกินไป ระยะไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป 2-3 อาทิตย์กำลังเหมาะทีเดียว เช่นน้อง แมวหนัก 8 กิโลกรัม อาจเริ่มด้วยการลดน้ำหนัก 0.4 กิโลกรัมใน สองอาทิตย์ (5% ของน้ำหนักที่มีอยู่) จากนั้นอีกสองอาทิตย์ถัดไปก็ลดน้ำหนักลงอีก 5% จนได้ BCS 3 – 3.5 ค่อยสิ้นสุดโปรแกรมการลดน้ำหนัก

การลดน้ำหนักแมวมีหลักการง่าย ๆ 2 อย่างคือ

           1. เพิ่มการใช้พลังงาน โดยการเพิ่มการออกกำลังกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เอาแต่กินและนอน โดยทำให้แมวเคลื่อนไหวอย่างน้อย 20 นาทีต่อวัน เช่น การใช้ของเล่น เชือก ขนนก หนูปลอม ไฟเลเซอร์ ซ่อนอาหารไว้ในที่ต่างๆ เพื่อให้แมวออกกำลังในการหาอาหาร

          2. การลดอาหาร จำกัดอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมัน  แต่เพิ่มอาหารที่เป็นโปรตีนและไฟเบอร์แทน หรือเปลี่ยนเป็นสูตรลดน้ำหนักซึ่งมักจะเขียนว่า light หรือ lite ที่ข้างถุงบรรจุอาหาร ส่วนแมวที่ทำหมัน แล้วต้องลดปริมาณอาหารลง 10 – 15 % ของอาหารในแต่ละวัน  ตามฉลากที่บรรจุอาหารแมวจะเขียนบอกถึงปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน  ซึ่งหากแมวน้ำหนักมากจะมีรูปแมวอ้วนด้านบนขวามือ และปริมาณที่แมว ควรกินตามตารางที่แสดงไว้ด้านล่างในฉลาก

          การคำนวณปริมาณอาหารที่ให้แต่ละวัน โดยแบ่งให้เป็น 2 มื้อ แต่ถ้าแมวยังหิวมาก มาขออาหารอยู่เรื่อย ๆ อาจต้องแบ่งอาหารออกเป็น 3-4  มื้อแทนการลดมื้ออาหาร อาจทำให้แมวหงุดหงิดและกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้น

          การเปลี่ยนอาหารต้องค่อยๆเพิ่มปริมาณอาหารใหม่ผสมกับอาหารเดิมเข้าไป อาจใช้เวลา 1 อาทิตย์ค่อยแทนที่อาหารใหม่เข้าไปทั้งหมด  อย่าให้แมวอดอาหารนาน ๆ เพราะจะทำให้เกิดภาวะไขมันในตับเสื่อมตามมาได้ (hepatic lipidosis)

          หรืออาจเปลี่ยนจากอาหารเม็ดมาเป็นอาหารกระป๋องหรืออาหารเปียกแทน เพราะในอาหารจะมีน้ำอยู่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะทำให้แมวกินอิ่มแต่ได้รับแคลอรีลดลง ชั่งและประเมินน้ำหนักทุกสองอาทิตย์ และถ่ายรูปเป็นข้อมูลพื้นฐานไว้ อย่าหมดกำลังใจถ้าแมวน้ำหนักไม่ลดลง ให้ลองย้อนกลับไปดูว่า โปรแกรมของเราเคร่งครัดดีหรือยัง มีใครแอบให้ขนม หรือน้องเหมียวแอบออกไปกินอาหารของตัวอื่นหรือเปล่า ถ้าทำดีแล้วแต่น้ำหนักไม่ลด ให้ลดปริมาณอาหารลงมาอีก 10 -15 % แมวบางตัวอาจใช้เวลาลดน้ำหนักถึง 6 เดือน กว่าจะได้หุ่นสวยเพรียวถูกใจ แต่ต้องสุขภาพดีแข็งแรงไม่เป็นโรค




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แมวอ้วน...มาลดพุงกันเถอะ อัปเดตล่าสุด 9 เมษายน 2553 เวลา 17:44:45 4,148 อ่าน
TOP